Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี บรรยายพิเศษ Walailak go Green University

03/04/2561

3063



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษ Walailak go Green University ในการสัมมนาความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว “พลังงานสะอาด...เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 5 ซึ่งศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ บอกเล่าถึงเป้าหมายของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่จะติดอันดับ 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับประเทศ ในปี พ.ศ. 2564 ว่า มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเพื่อไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยได้นำเกณฑ์การให้คะแนนใน 6 ด้าน มาเป็นแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย เกณฑ์ที่ 1 ด้าน Infrastructure ที่ต้องดำเนินการ เริ่มตั้งแต่อาคารที่จัดสร้างใหม่ต้องเป็น Green Building วัสดุที่ใช้ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดูทิศทางลมในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร เพื่อประหยัดการใช้พลังงานในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาพื้นที่สีเขียว “สวนวลัยลักษณ์ : Walailak Park” พื้นที่ 125 ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนในพื้นที่ บุคลากรและนักศึกษา เกณฑ์ที่ 2 ด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยได้ประกาศนโยบายการอนุรักษ์พลังงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน เช่น การเปิดไฟถนนบริเวณมหาวิทยาลัย แบบเสาเว้นเสา หลังเที่ยงคืนจะดับไฟถนนทั้งสาย และใช้หลอดไฟ LED รวมทั้งมีการนำระบบสารสนเทศในการจองห้องเรียน เพื่อให้มีการใช้ห้องให้เหมาะสมกับจำนวนนักศึกษา ในอนาคตจะมีการติดตั้งระบบ Sensor, Motion Movement และการควบคุมอุณหภูมิห้อง เชื่อมโยงกับระบบไฟ หากไม่มีการใช้ห้องในเวลาที่กำหนด ระบบจะตัดไฟอัตโนมัติทันที ส่วนการใช้เครื่องปรับอากาศ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงพลังงาน จำนวน 40 ล้าน เพื่อนำมาปรับปรุงเครื่องปรับอากาศ เช่น การเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่าง เพื่อให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และปิดแอร์ช่วงพักเที่ยงตามอาคารต่างๆ อีกด้วย ด้านการใช้รถ มหาวิทยาลัยมีนโยบายการบริหารจัดการเกี่ยวกับการใช้รถให้ตรงตามความต้องการ เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด มีระบบ GPS เพื่อกำกับการใช้รถและความเร็วของรถอีกด้วย

เกณฑ์ที่ 3 ด้านของเสีย ระบบการจัดการขยะ มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ขยะอันตรายและขยะทั่วไป โดยได้มีการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อหรือขายเพื่อให้มีรายได้มาจัดการระบบคัดแยกขยะต่อไป ได้มีการประชาสัมพันธ์และอบรมนักศึกษาเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และทิ้งในถังตามประเภทที่กำหนดไว้ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะนำไปเผา โดยได้รับงบประมาณพัฒนากลุ่มจังหวัด จำนวน 26 ล้านบาท มาจัดสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งเผาได้ 3 ตันต่อวัน และนำความร้อนที่ได้จากเตาเผาขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 หมื่นวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งเตาเผาขยะนี้เป็นเตาเผาต้นแบบที่สามารถเอาไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ได้ ส่วนน้ำเสีย มีระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมคอยดูแลเส้นทางน้ำเสีย ก่อนผ่านบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ 3 บ่อ โดยใช้โอโซนในการบำบัดก่อนที่จะระบายสู่แก้มลิงและปล่อยสู่ธรรมชาติในที่สุด

เกณฑ์ที่ 4 การจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโรงผลิตน้ำประปาขนาด 2.4-2.5 ล้านลูกบาศ์กเมตร สำหรับรองรับนักศึกษา บุคลากรและร้านค้าต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย พร้อมบ่อสำรองขนาดความจุ 1.5 ล้านลูกบาศ์กเมตร ในการผลิตน้ำประปาให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานได้ใช้ระบบปั๊มน้ำที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถลดได้ 30-40% ในส่วนของการบริหารจัดการได้ให้งานประปาเป็นวิสาหกิจ เพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินงาน โดยดูแลบ่อน้ำดิบ ระบบการผลิต ท่อเมนที่เข้ามิเตอร์ประปา นอกจากนี้ ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียก็จะนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ เพื่อประหยัดทรัพยากรน้ำอีกทางหนึ่ง

เกณฑ์ที่ 5 การจัดการขนส่งภายใน มีเป้าหมายลดการใช้จักรยานยนต์ของนักศึกษา โดยจัดรถไฟฟ้าให้บริการ รับ-ส่ง ภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 16 คัน สำหรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา 2561 พร้อมทั้งรณรงค์ให้นักศึกษาชั้นปี 2-4 หันมาใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายภายใน 4 ปี จะไม่มีการใช้รถจักรยานยนต์ ส่วนบุคลากรก็จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยมีรถบัสปรับอากาศให้บริการรับ-ส่งภายนอกมหาวิทยาลัย ส่วนเกณฑ์สุดท้าย ด้านการศึกษาได้บรรจุรายวิชาด้านการอนุรักษ์พลังงานไว้ใน General Education รวมทั้งอบรมด้านการประหยัดพลังงาน ความใส่ใจในการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเป้าหมายที่จะให้บรรลุผลเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อ และติดอันดับ 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยสีเขียวของประเทศไทย ในปี 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี สรุปในตอนท้าย



ประมวลภาพ

http://clmweb.wu.ac.th/greenseminar2018/

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ภาพ