Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.นำนักศึกษาค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ ชมการแสดงโขนจากกระทรวงวัฒนธรรม

22/06/2561

2778



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) นำนักศึกษาต่างชาติค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ 2561 จาก 33 ประเทศ เข้าพบที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมรับชมการแสดงโขนชุด ทศกัณฐ์รบพระราม (ยกรบ) เพื่อซึมซับวัฒนธรรมนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ 2561 (The 2nd Walailak University Cultural Camp) ระหว่างวันที่ 16 -23 มิถุนายน 2561 เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมไทย พร้อมสร้างทูตทางวัฒนธรรม เพื่อช่วยในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่สากล ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมไร้พรมแดน” โดยมีนักศึกษาต่างชาติจาก 33 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก เข้าร่วม และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโครงการค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ ได้นำนักศึกษาต่างชาติที่เข้าร่วมค่าย เข้าพบ ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมทั้งรับชมการแสดงโขนชุด ทศกัณฐ์รบพระราม (ยกรบ) ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักศึกษาต่างชาติครั้งนี้เป็นอย่างมาก



ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้จัดให้มีการแสดงเชิงวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับคณะนักศึกษานานาชาติ ซึ่งเดินทางมาเข้าค่ายที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คาดว่านักศึกษาต่างชาติที่มาร่วมในครั้งนี้จะได้เห็นถึงการแสดงโขนซึ่งเป็นมรดกของชาติไทยซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมทั้งได้เยี่ยมชมความงดงามของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง คงสร้างความประทับใจให้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในปีต่อไปถ้าโอกาสกระทรวงวัฒธรรมและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะร่วมมือกันทำโครงการดังกล่าวด้วยกัน ช่วยกันเผยแพร่วัฒนธรรมที่โดดเด่นของประเทศไทยต่อไป

“งานของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องงานของวิถีชีวิต เป็นรากฐานของความเป็นชาติ ชาติใดจะพัฒนา จะเจริญก้าวหน้าไปอย่างไร ถ้ามีรากฐาน มีรากเหง้าที่มีวัฒนธรรมที่เหนียวแน่น สิ่งนี้ก็จะส่งผลให้ความเป็นชาติความภาคภูมิใจในประเทศชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้เข้ามาส่งเสริมเป็นอย่างมากในช่วง3ถึง4ปีที่ผ่านมา” ดร.พงศ์ศักติฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ การแสดงโขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทยซึ่งมีมาแต่โบราณ มีกำเนิดมาจากการละเล่นหลายประเภท เช่น ชักนาคดึกดำบรรพ์ การเล่นกระบี่กระบองและหนังใหญ่ ครั้นต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงให้ประณีตขึ้นตามลำดับ แต่เดิมนั้นผู้แสดงโขนจะต้องสวมหัวโขนปิดหน้าและใช้ผู้ชายแสดงทั้งหมด จึงต้องมีผู้พูดแทน เรียกว่า ผู้พากย์-เจรจา และขับร้อง ผู้แสดงต้องแสดงท่าเต้นและรำไปตามคำพากย์-เจรจา และบทร้องนั้น ต่อมาได้วิวัฒนาการให้ผู้แสดงซึ่งสมมติเป็นเทพบุตร เทพธิดา และมนุษย์ชาย หญิง สวมแต่เครื่องประดับศรีษะ ไม่ต้องปิดหน้าทั้งหมด และใช้ผู้หญิงเข้าร่วมแสดงด้วย แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ คือ มีผู้พากย์ เจรจาและขับร้องแทน ทั้งนี้เว้นแต่ฤษีบางองค์และตัวตลก จึงจะเจรจาเอง

โดยการแสดงโขนชุดทศกัณฐ์รบพระรามอยู่ในตอนหนึ่งของเรื่องรามเกียรติ์ เป็นการทำสงครามระหว่างพระราม พระลักษณ์และกลวารนร กับทศกัณฑ์ พญายักษ์แห่งกรุงลงกา การรบของทั้งสองฝ่ายเต็มไปด้วยชั้นเชิงของลีลาท่ารำกระบวนการรบและความสามารถที่มีเอกลักษณ์ประณีตงดงามในการแสดงโขน















ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร