Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน บรรยายพิเศษ การเรียนการสอนและการใช้ภาษาอังกฤษในยุคไทยแลนด์ 4.0

อัพเดท : 28/08/2561

5546

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษเรื่อง การเรียนการสอนและการใช้ภาษาอังกฤษในยุคไทยแลนด์ 4.0 ให้แก่ผู้บริหาร อาจารย์และนักเรียน ในกิจกรรม Walailak University Language Institute Festival & Walailak Young Ambassador Camp 2018 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ณ สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวถึง ไทยแลนด์ 4.0 ว่า เป็นโมเดลการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมุ่งมั่นให้เป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแข่งขันได้ การทำให้สังคมและเศรษฐกิจเข้มแข็งในทุกด้านนี้ ปัจจัยที่สำคัญคือ ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ มึความรู้ความสามารถ โดยมีการศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ถือเป็นหัวรถจักรที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประเทศไทยใน 20 ปี ข้างหน้าเป็นประเทศในโลกที่ 1 ทั้งนี้ การจะพัฒนาหัวรถจักรจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนามหาวิทยาลัยเข้าสู่ระดับโลก ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่อเนื่องจากยุค Automation, Globalization และ Digitalization

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนแนวสื่อสารเพื่อสร้างสมรรถนะทางการสื่อสารให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้จริง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ หลักภาษา ควบคู่กับทักษะการใช้ภาษาสื่อสาร ได้อย่างเหมาะสมในบริบทต่างๆ สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในยุค THAILAND 4.0 ซึ่งในยุค 1.0 – 3.0 เป็นการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ เพื่อการหาความรู้และอาชีพที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ต่อมาในยุค 3.0 – 4.0 เป็นการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาสากล เน้นการสร้างทุนมนุษย์ให้มีความรู้ ทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะด้านศีลธรรม และทักษะภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี ดังนั้น คนไทยยุคโลกาภิวัฒน์จำเป็นต้องมีทักษะความเป็นนานาชาติหรือทักษะสากล เพื่อติดต่อสื่อสารกันในสังคม ภาษาอังกฤษจึงได้รับความนิยมให้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้คนในประชาคมโลกได้อย่างกว้างขวาง

เมื่อพูดถึงนโยบายและเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวว่า จะต้องยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยประกาศกำหนดการบริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 จำนวน 200 ชั่วโมงต่อปี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 จำนวน 120 ชั่วโมงต่อปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 80 ชั่วโมงต่อปี ระดับอุดมศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิตทวิภาค และอาจเพิ่มภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพตามความจำเป็น ในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 21 หน่วยกิตไตรภาค เมื่อเข้าสู่วิชาชีพก็เป็นส่วนหนึ่งของการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของ ก.พ. เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ตำแหน่งอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยต้องมีผลสอบภาษาอังกฤษ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 คะแนน หรือผลสอบอื่นที่เทียบเท่า หรือตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เน้นการทดสอบด้านการอ่าน เขียน พูด ระดับใช้งานได้

หากดูผลการวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย พบว่า อยู่ในระดับต่ำที่ต้องเร่งรัดพัฒนาเพื่อให้บรรลุนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้ร้อยละ 80 ของผู้เรียนผ่านเกณฑ์การประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งผลการจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลก โดย EDUCATION FIRST จากทั้งหมด 72 ประเทศ ไม่รวมประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ ประเทศไทยอยู่ในอันดับต่ำ ที่ 56 จาก 72 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 15 จากประเทศในเอเชีย ทั้งหมด 19 ประเทศ เมื่อเทียบกับผลการจัดอันดับดังกล่าวจาก 10 ประเทศในอาเซียน พบว่า ประชาชนพูดภาษาอังกฤษได้ลำดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ (71%) ฟิลิปปินส์ (55%) มาเลเซีย (27%) และไทย (10%) หากดูผลการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของ ก.พ. ในวิชาภาษาอังกฤษระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ.2560 จากผู้เข้าสอบ 175,753 สอบผ่าน 7,837 คน คิดเป็นร้อยละ 4.46 ของผู้เข้าสอบ



ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า โลกในยุค Globalization ก่อให้เกิด Internationalization โดยมีเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศเป็นสื่อตัวนำสำคัญ และมีภาษาเป็นตัวพาสาร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกว้างขวางไปทั่วประชาคมโลก มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่เป็นทางการอย่างกว้างขวางควบคู่กับการใช้ภาษาถิ่น ทำให้มีความจำเป็นในการให้ความรู้การใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาสากลแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง มีทักษะและสมรรถนะในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการเข้าถึงแหล่งความรู้ได้เป็นอย่างดี

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง
นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร ภาพ