Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักศึกษารางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ (Walailak Award) ประจำปีการศึกษา 2560

อัพเดท : 27/09/2561

4602


รางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ (Walailak Award) เป็นรางวัลที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณงามความดี ให้เป็นคุณค่าที่นิยมชื่นชมกว้างขวางในหมู่นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย ตลอดถึงสังคมโดยรวม สรรหานักศึกษาที่มีความเหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของเพื่อนนักศึกษาให้เป็นศึกษิตแห่งปี โดยพิจารณาจากคุณสมบัติตามแนวพระราชดำริแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และตามปณิธานของมหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปีการศึกษา

ในปีการศึกษา 2560 มีนักศึกษาที่ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ จำนวน 3 คน ได้แก่นาย กฤษดา หนูเล็ก สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบนายวิกรานต์ ทั่วยาบัตร สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และนายศักดา ไชยภาณุรักษ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 25 กันยายน 2561ที่ผ่านมา


นายกฤษดา หนูเล็ก (น้องฮอร์น) บัณฑิตสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ หลักสูตร สถาปัตยกรรมบัณฑิต สาขาการออกแบบ


“น้องฮอร์น” สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนชัยเกษมวิทยา เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใน เมื่อปีการศึกษา 2557 “น้องฮอร์น” เล่าถึงความรู้สึกในการได้เป็นศึกษิตว่า เป็นรางวัลที่ตนเองภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นเกียรติอันสูงสุดของตนเองและครอบครัว เป็นการสร้างชื่อเสียงให้สำนักวิชา เป็นอีกรางวัลที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งและยังเป็นแบบอย่างให้น้องๆรุ่นหลังได้มีแรงบันดาลใจในการทำความดีเพื่อสังคมและส่วนรวมต่อไป

“น้องฮอร์น” เล่าให้ฟังถึงการเรียนของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบว่าเป็นการเรียนการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติงานจริง โดยการนำศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ค่อนข้างได้เปรียบในเชิงพื้นที่ เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติทั้ง ป่า เขา ทะเล โดยทางสำนักวิชาได้จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานกับชุมชน ทำให้ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงๆ นับว่าได้ทั้งความรู้และประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียนภาคทฤษฏีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว และผลงานการออกแบบเหล่านั้นในวิชาเรียนยังสามารถช่วยเหลือชุมชน ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรที่มีอาชีพรองรับที่หลากหลาย เช่น Interior Designer, Industrial Designer Product designer, Fashion designer, stylist หรือผู้ที่สนใจด้านวิชาการสามารถเป็น นักวิจัย หรือนักวิชาการ ทางด้านการออกแบบในสาขาต่างๆได้อีกด้วย

“น้องฮอร์น” ยังเล่าต่ออีกว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการ คือการได้ครอบครัวใหม่ที่อบอุ่น มีพี่ๆเพื่อนๆคอยช่วยเหลือ มีครูอาจารย์ที่เป็นเหมือนพ่อ แม่ คนที่สอง คอยช่วยเหลือสนับสนุนทั้งการเรียนและทำกิจกรรม ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดในชีวิตรั้วมหาวิทยาลัยและเป็นสิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นบัณฑิตของที่นี่ สำหรับเคล็ดลับในการเรียนให้ประสบความสำเร็จ ส่วนตัวคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมี “Passion” เพราะจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากทำให้ดีที่สุดและทำโดยไม่รู้สึกย่อท้อ ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย หรือเหน็ดเหนื่อยเพราะเรารักในสิ่งที่ทำ กับการเรียนก็เช่นเดียวกัน

ช่วงท้าย  "น้องฮอร์น" ได้ฝากถึงน้องๆที่กำลังมองหามหาวิทยาลัยศึกษาต่อว่า อยากให้ลองพิจารณา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะที่นี่จะช่วยส่งเสริมให้น้องๆไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จไม่ว่าจะด้านการเรียน การทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต และอยากให้ทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ดีๆในรั้วมหาวิทยาลัยไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะจะไม่มีโอกาสแบนี้อีกแล้วเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป ความรู้และประสบการณ์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มอบให้จะช่วยให้เราออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้ง่ายยิ่งขึ้น

นายวิกรานต์ ทั่วยาบัตร (น้องอาร์ม) บัณฑิตสำนักวิชาเภสัชศาสตร์
“น้องอาร์ม” สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ สงขลา เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในหลักสูตร เภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2555
“น้องอาร์ม” บอกเล่าความรู้สึกต่อรางวัลศึกษิตว่า เป็นรางวัลอันทรงเกียรติและสามารถแสดงถึงศักยภาพความเป็นนักศึกษาของผู้ที่ได้รับรางวัล สำหรับตนเองแล้ว รู้สึกยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นอกจากตัวเองที่รู้สึกยินดีแล้ว คิดว่าบุคคลที่รู้สึกไม่น้อยไปกว่าก็คือ ครอบครัว สำนักวิชา อาจารย์ และเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ รางวัลที่ได้ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นรางวัลสำหรับตนเอง แต่เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจแห่งสำนักวิชาเภสัชศาสตร์และครอบครัว

ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “น้องอาร์ม” เล่าว่า สำหรับตนเองแล้วคิดว่าจุดเด่นที่สุดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ การเรียนแบบไตรภาค 3 ภาคการศึกษา/ปี จากความแตกต่างนี้เองทำให้เล็งเห็นถึงข้อดีที่เกิดขึ้น คือ นักศึกษาจะมีความสามารถในการแบ่งเวลา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเรียน การทำกิจกรรม และการดูแลตัวเอง และเมื่อจบการศึกษาออกไปทำงาน มักจะได้รับคำชื่นชมจากสถานประกอบการ ถึงความรับผิดชอบและการแบ่งเวลาในการทำงาน จุดเด่นต่อมาคิดว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการ การสนับสนุนการทำงานวิจัย ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความแตกต่างจากที่อื่น

“น้องอาร์ม” เล่าถึงการเรียนในสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ว่า ส่วนใหญ่เน้นการปฏิบัติเป็นหลัก การเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของคำว่า Active learning สิ่งที่ชอบในการเรียนของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ที่นี่คือ ทักษะการอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ทักษะการดูแลผู้ป่วยทางด้านยาในโรงพยาบาลหรือร้านยาแล้วนั้น การเรียนการสอนที่นี่ยังเน้นให้รู้จักการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม หรือที่เรียกกันว่า Holistic care ซึ่งนักศึกษาจะได้มีโอกาสไปดูแลชาวบ้านที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ ในด้านสุขภาพ สังคม และจิตใจ ตั้งแต่เรียนในชั้นปีที่ 1 จนรู้สึกว่าชาวบ้านในชุมชนเปรียบเสมือนครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่ง สิ่งนี้ถือเป็นเสน่ห์ของสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้การเป็นบัณฑิตหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ เป็นอาชีพที่ไม่ตกงานอยู่แล้ว คือเป็นเภสัชกร และเป็นเภสัชกรที่มีใจรักในการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยและยังสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา เภสัชกรโรงงาน สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ

นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้ว “น้องอาร์ม” เล่าว่า การเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำให้รู้จักสังคมของความเป็นพี่เป็นน้อง ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่รั้วแสด-ม่วง แห่งนี้ก็มีรุ่นพี่ทั้งในและต่างสำนักวิชา รวมถึงพี่ๆกลุ่มสัมพันธ์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ตนเองเป็นอีกคนที่ผ่านการรับน้องแบบกลุ่มสัมพันธ์ และมีความภาคภูมิเป็นอย่างมากด้วยกับกลุ่มสัมพันธ์ที่ 13 JUUSAN POWER เพราะพี่ๆและเพื่อนๆทุกคนให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและอยากจะให้น้องๆรุ่นหลังยังคงรักษาธรรมเนียมประเพณีพี่น้องอันดีงาม แบบนี้ต่อๆไป

“น้องอาร์ม” เล่าถึง เคล็ดลับการเรียนให้ประสบความสำเร็จ สำหรับตนเองไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าคนอื่น ก่อนหน้านี้ผลการเรียนไม่ดี แต่เนื่องจากความตั้งใจที่อยากจะพิสูจน์ให้น้องๆเห็นว่า คนที่ทำกิจกรรม ก็สามารถเรียนดีได้ด้วยเช่นกัน ปีที่ผ่านมาได้ผลการเรียนอยู่ที่ 4.00 อีกทั้งยังเป็นนักกิจกรรม รวมถึงยังเข้าสังคม ทำทุกอย่างอย่างที่นักศึกษามหาวิทยาลัยควรจะทำ แต่สิ่งหนึ่งที่คิดเสมอ คือ การที่เราเรียนได้ 4.00 ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่สุด เพราะหากได้ผลการเรียนที่ดีจริง แต่ไม่เคยร่วมกิจกรรมใดๆเลย ชีวิตจะจืดชืดมาก เทคนิคเดียวที่อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ คือ การเรียนเป็นกลุ่ม แบ่งกันอ่านและผลัดกันติวหนังสือกับเพื่อนในชั้นเรียน ซึ่งทุกๆครั้งก่อนสอบ จะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในการถกประเด็นเนื้อหาที่จะสอบกับเพื่อน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจก่อนเข้าสอบ ขอแนะนำวิธีนี้ให้ทุกคนทดลองนำเอาไปใช้ได้

“น้องอาร์ม” ได้เล่าถึงการทำงานในขณะนี้ว่า ตนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอ็มทูที จำกัด อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการเรียนการสอน เกี่ยวกับเรื่องการบริหารการเงิน การค้นหาความสามารถของตัวตน และการใช้ชีวิต โดยมีตำแหน่งเป็น ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และการจัดสรรองค์กร

สุดท้ายก่อนจบการสนทนา “น้องอาร์ม” ได้ฝากถึงน้องๆ และผู้ปกครองทุกท่านที่ยังลังเลว่าจะให้บุตรหลานของท่านเรียนต่อที่ไหน ในฐานะบัณฑิตขอตอบอย่างภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แห่งนี้จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง วลัยลักษณ์จะเป็นที่ๆเติมเต็มความฝันและมีความพร้อมที่ออกไปเผชิญโลกกว้างภายนอก โดยไม่แพ้คนที่จบจากสถาบันอื่นๆ และขอให้กำลังใจน้องๆทุกคนที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเรียนบ้าง เรื่องการทำกิจกรรมบ้าง อยากให้ทุกคนตั้งสติ เพราะการเรียนมหาลัยเพียง 4-6 ปี เวลาผ่านไปเร็วมาก เก็บเกี่ยว และตักตวงทุกสิ่งที่ดีไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และในฐานะพี่บัณฑิตจะรอดูวันที่น้องๆทุกคนประสบความสำเร็จ

นายศักดา ไชยภาณุรักษ์ (น้องชิ้น) บัณฑิตสำนักวิชาศิลปศาสตร์ หลักสูตร ไทยศึกษาบูรณาการ

“น้องชิ้น” สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์ เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในหลักสูตร ไทยศึกษาบูรณาการ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2557

“น้องชิ้น” เล่าถึงความรู้สึกว่า รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในชีวิต เพราะในชีวิตนี้ไม่เคยได้รับรางวัลพระราชทานเลยสักครั้ง เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นหรือทำอะไรที่จะสามารถไปถึงรางวัลที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ จึงถือเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับตัวเองและครอบครัว รู้สึกปลาบปลื้มใจและภาคภูมิใจที่สุด ซึ่งพี่ๆผู้ที่ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีในแต่ละปีที่ผ่านมานั้น ล้วนมีผลงานและมีความสามารถ รางวัลนี้ทำให้รู้สึกว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม ที่ได้ทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน มีคุณค่ามากกว่าผลเสีย เพราะทุกสิ่งที่ทำล้วนเกิดผลดีในเรื่องของการพัฒนาทักษะ สั่งสมประสบการณ์ และส่งผลต่อเพื่อน พี่ น้อง และมหาวิทยาลัย รวมไปถึงองค์กรต่างๆที่ได้ร่วมทำงานด้วยกัน รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีค่าสำหรับตนเอง มีค่าสำหรับผู้อื่น และผมจะนำคุณค่าในตัวเองไปสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นต่อไป

สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรไทยศึกษาบูรณาการ “น้องชิ้น” เล่าว่า สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตที่รอบรู้ด้านภาษาศาสตร์มีความคิดเชิงนวัตกรรมทางด้านภาษาและงานวิจัยรวมถึงความรู้ทางด้านวิชาการที่เป็นเลิศ เป็นหลักสูตรที่มีการศึกษาเชิงบูรณาการเกี่ยวกับทางด้านภาศาสตร์ คติชน มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งเป็นการเรียนการสอนสมัยใหม่ และเรื่องใหม่ๆทั้งในประเทศและในโลกที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้ผู้เรียนหลักสูตรนี้จะไม่เพียงแค่เก่งทางด้านภาษาไทยแต่ยังมีทักษะทางด้านการนำภาษาไปใช้ในด้านต่างๆอีกด้วย เช่น การเขียนบท แสดงละครและละครเวที การเป็นบรรณาธิการ การพูดอย่างมีวาทศิลป์ และการเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ นอกจากนี้ยังมีการมุ่งเน้นในการทำวิจัยทั้งในด้านภาษาและทางด้านคติชน มานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มีการส่งเสริมและให้นักเรียนฝึกปฏิบัติในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ในการลงชุมชนด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความชำนาญในการรับรู้ปัญหาและแก้ไขให้กับชุมชน

จากการเรียนที่บูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะต่างๆมาบูรณาการกับความสามารถของตนเองและพัฒนาตนเองได้ เพราะมีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน คอยดูแล แนะนำให้ผู้เรียนทำในสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดได้อย่างเต็มศักยภาพเรียนจบไปแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น ครู-อาจารย์ นักวิจัยทางด้านภาศาสตร์/มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำงานในสำนักงานหรือบริษัททั้งของรัฐและเอกชน นักประชาสัมพันธ์ นักพูด นักเขียน นักแปล มัคคุเทศก์ วิทยากร/พิธีกร นักวิชาการอิสระ ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ตนเองได้ประกอบอาชีพเป็นครูพิเศษอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคจะนะ สาขาสะเดา ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา และมีวางแผนจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท

“น้องชิ้น” เล่าต่อว่าสิ่งที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสมอมา คือโอกาส ตนเองได้โอกาสมาเรียนที่นี่ด้วยระบบโควตา ได้พัฒนาตนเองจากเด็กบ้านๆที่ทำอะไรไม่เป็น จนกระทั่งได้มาเป็นนักศึกษาชั้นปี1 จนสำเร็จการศึกษาในวันนี้ ก็เพราะได้โอกาสจากคณาจารย์ บุคลากร พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ และมหาวิทยาลัยที่มอบโอกาสให้กับผมทำหน้าที่ต่างๆเพื่อพัฒนาตนเอง และได้รับความรู้ทางด้านการเรียนและประสบการณ์การทำงาน ได้มิตรภาพที่ดีๆจากที่นี่ ได้ความสุขสนุกสนานตลอด 4 ปีที่ได้อยู่ในรั้วแสด-ม่วงแห่งนี้

จากการพูดคุยได้ทราบว่า “น้องชิ้น” เป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม สำเร็จการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.67 เกียรตินิยมอันดับ1 “น้องชิ้น”เล่าว่า จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในสายวิทย์ฯ-คณิต แต่ผันตัวเองมาเรียนสายศิลป์ ถือเป็นความโชคดีที่สามารถตอบตัวเองได้ตอน ม.ปลาย ว่าชอบเรียนอะไร เมื่อเรียนในด้านที่ชอบก็จะมีความสุข เคล็ดลับก็คือ การเรียนอย่างมีความสุข ไม่กดดันตนเอง ทุ่มเท มุ่งมั่นและตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้ดีและมากที่สุด และหากถามว่าทำกิจกรรมมากและเรียนไปด้วยกระทบต่อการเรียนหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะตนเองได้วางแผนการเรียนและกิจกรรมแยกกัน มีการวางแผนว่าเวลานี้ต้องทำอะไร หากเรียนก็จะตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากๆ จดบันทึกและฟังอย่างตั้งใจและคิด จินตนาการตามจะทำให้สนุกไม่ง่วงและจำได้ หลังจากการเรียนจะรับงานก็ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆหน้าที่ๆได้รับมอบหมาย หมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองจากคำติชมของผู้ร่วมงาน การทำทุกอย่างให้เต็มที่แล้วมันก็จะเกิดผลสำเร็จในทุกๆอย่าง

“น้องชิ้น” ได้ฝากข้อคิดกับน้องๆที่กำลังมองหาที่เรียนต่อระดับอุดมศึกษาว่า อยากจะฝากให้นึกถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งนอกจากจะโดดเด่นเรื่องการเรียนการสอนที่ทันสมัยแล้ว ยังมีภูมิทัศน์ที่สวยงามอันดับต้นๆของประเทศ อีกทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการให้โอกาส และที่นี่จะสร้างน้องๆให้เป็นคนที่มีคุณภาพในทุกๆสาขาอาชีพที่น้องๆสนใจ ไม่แพ้มหาวิทยาลัยใดๆในประเทศอย่างแน่นอน และสุดท้าย “น้องชิ้น” ได้ฝากบทกลอนบทหนึ่งให้กับน้องๆและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดังนี้


         วลัยลักษณ์ประจักษ์งามตามสมัย เกียรติเกริกไกรสู่สากลล้นศาสตร์ศิลป์
กล้าเปลี่ยนแปลงสร้างคุณค่าน่ายลยิน พร้อมรับใช้เเผ่นดินทั่วถิ่นไทย
         ด้วย “เก่งดี – มีสุข” ครบทุกด้าน คือปณิธานที่มุ่งมั่นสู่วันใหม่
ให้ความรู้คู่คุณธรรมหนุนนำใจ เพื่อนำไปสร้างสรรค์ปันสังคม
         "ลูกเจ้าฟ้าจุฬาภรณ "ขจรชื่อ ทุกคนคือผู้พร้อมพรั่งการสั่งสม
ล้วนฝึกฝนมากประสบการณ์น่าชื่นชม วลัยลักษณ์เพาะบ่มอบรมมา
         สร้าง "ศึกษิต" ย้ำศักดิ์ศรีชี้บัณฑิต คือผู้คิด-นำแน่วแน่แก้ปัญหา
มากสามารถทั้งศาสตร์ศิลป์เห็นชินตา เกียรติประวัติชัดคุณค่าน่าภาคภูมิ