Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อ.นพ.ลั่นหล้า อุดมเวช : จักษุแพทย์ อาจารย์ และนักวิจัย บทบาทอันแตกต่างแต่ลงตัว

อัพเดท : 30/11/2561

7439

อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า อุดมเวช อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และจักษุแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา สอนนักศึกษาแพทย์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความผิดปกติของตาและการมองเห็น ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า สำเร็จการศึกษา พ.บ. (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ป. บัณฑิต ชั้นสูง วิทยาศาสตร์การแพทย์ (จักษุวิทยา) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว.ว. จักษุวิทยา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และวุฒิบัตร Fellowship of International Council of Ophthalmology (องค์กรระหว่างประเทศ)

นอกจากบทบาทของอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกแล้ว และอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความผิดปกติของตาและการมองเห็น ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ยังทำหน้าที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาประจำคลินิกจักษุ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และให้บริการวิชาการ ตรวจโรคตาและผ่าตัดตา ที่โรงพยาบาลสิชล อีกด้วย

อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า เล่าว่า ในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้ ยังขาดแคลนจักษุแพทย์ ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้มีผู้ป่วยในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียงเข้ามารับบริการที่ศูนย์การแพทย์ฯ จำนวนมาก ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีโรคตา อาทิ ต้อกระจก ต้อหิน ตาแห้ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยมีภาวะสายตาผิดปกติ และโรคตาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจำนวนมากเช่นกัน

จากการพูดคุยกับผู้ป่วยที่มารับการรักษาเกี่ยวกับตา ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า เป็นแพทย์รุ่นใหม่ที่มีอัธยาศัยดี ใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ซักถามและพูดคุยกับผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำการดูแลรักษาตา ทำให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดี เป็นที่ประทับใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ

อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า เล่าต่อว่า จากการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับตา มีผู้เข้ารับบริการจำนวนมากต้องการปรึกษาถึงแนวทางแก้ไขสายตาผิดปกติ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้จัดตั้งคลินิกเฉพาะโรค คือคลินิกวัดสายตาและคลินิกคอนแทคเลนส์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวในการเลือกแนวทางการแก้ไขสายตาผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เป็นการขยายขีดความสามารถการให้บริการทางจักษุในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยปัจจุบันเป็นแห่งเดียวที่ให้บริการการรักษาด้วยคอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งแก๊สซึมผ่านได้ (rigid gas-permeable contact lens: RGP contact lens) ซึ่งเหมาะกับผู้มีค่าสายตาผิดปกติมาก ผู้มีสายตาเอียงไม่ปกติ (irregular astigmatism) ผู้ป่วยโรคกระจกตาย้วย (keratoconus) หรือผู้ป่วยสายตาผิดปกติทั่วไป ที่ต้องการภาพที่คมชัดมากขึ้น และผู้ป่วยที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานาน

ขณะเดียวกันยังทำให้ อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า พบปัญหาทางคลินิกที่หลากหลาย จุดประกายให้เกิดคำถามการวิจัยตามมา เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจำนวนมาก มีอาการแสบตา คันตา เคืองตา ตามัว และเมื่อตรวจร่างกาย จากการตรวจพบว่า มีการอักเสบของเปลือกตาและขอบตา ร่วมกับการมีคราบสะสม บริเวณโคนขนตาปริมาณมาก จากการค้นคว้าทางวรรณกรรมทางการแพทย์ พบว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อไรขน (Demodex spp.) ได้ ทั้งนี้ ยังมีข้อโต้แย้ง เนื่องจากไรขนนี้ สามารถพบในคนที่ไม่มีอาการใดๆ ได้ด้วย และยังมีการศึกษาถึงความชุมและความสัมพันธ์กับภาวะเปลือกตาอักเสบ รวมถึงการรักษาโรคเปลือกตาอักเสบจากไรขนนี้ จึงได้ร่วมกับ อาจารย์ แพทย์หญิงนนทพรรณ ผาสุข ทำโครงการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเปลือกตาอักเสบกับไรขน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการและยังเปิดรับอาสาสมัครอยู่

นอกจากนี้ อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า ยังมีปัญหาทางคลินิกที่พบและมีความสนใจที่จะสร้างเป็นงานวิจัยอื่นๆ ได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการเกิด biofilm ในคอนแทคเลนส์ที่ผลิตจากวัสดุต่างๆ ภาวะสายตาผิดปกติและภาวะตาขี้เกียจในเขตอำเภอท่าศาลา และการประดิษฐ์เครื่องมือทางจักษุ

ไม่ว่าจะทำงานหนักเพียงใด อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า ยังมีเวลาผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมดุริยางค์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WU Ensemble) ร่วมกับ อาจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตติกาลสุขะ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ซึ่งวง WU Ensemble ได้มีโอกาสแสดงตามงานต่างๆ เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประจำทุกปี

ในอนาคต อาจารย์ นายแพทย์ลั่นหล้า วางแผนที่จะศึกษาต่อในอนุสาขาเฉพาะทางจักษุวิทยา เพื่อเตรียมพร้อมด้านการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ในรายวิชาจักษุวิทยา เมื่อศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ และเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการวิชาการและการวิจัย

อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกท่าน ล้วนมีภาระหลักทั้งงานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่ด้วยความแตกต่างในความเชี่ยวชาญของสาขาวิชาชีพ ทำให้อาจารย์ทุกท่าน มีเรื่องเล่าจากการทำงานหลากหลายด้านที่ต่างกัน เป็นสีสันของการทำงานในรั้วมหาวิทยาลัย



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง