Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

นครศรีโมเดลฯ กับการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกในโรงพยาบาลแก่แกนนำสุขภาพอำเภอ 23 อำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช

อัพเดท : 12/11/2561

1838

ตามที่ รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนทุนจากกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย “การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy)” ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2561 จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และการสนับสนุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกในโรงพยาบาลแก่แกนนำสุขภาพใน 22 อำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช” ทั้งนี้องค์ความรู้ในการป้องกันโรคในชุมชนด้วยการวางระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย และแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มุ่งเน้นการจัดการในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถึงโรงพยาบาลชุมชน สามารถลดความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตลอดถึงการสร้างความตื่นตัวของประชาชนในการป้องกันโรคในพื้นที่

หลักจากการดำเนินการเปิดโครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกในโรงพยาบาลแก่แกนนำสุขภาพอำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุมอรพินธ์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้ดำเนินการถ่ายทอดฯ สู่พื้นที่เพื่อสร้างความตื่นตัวแก่ชุมชนซึ่งได้ถ่ายทอดฯ ไปแล้วด้วยกัน 6 อำเภอ คือ อำเภอนบพิตำ อำเภอหัวไทร อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอพิปูน อำเภอถ้ำพรรณรา และอำเภอพรหมคีรี

ผลจากการดำเนินการมีดังต่อไปนี้
1.อำเภอนบพิตำ ได้ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กันยายน ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลนบพิตำ โดยมีนายแพทย์กฤษณ์ เพชรสำรวล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนบพิตำ นางอมตา จันทร์ปาน สาธารณสุขอำเภอนบพิตำ และคณะ จำนวน 10 คน ร่วมวางแผนเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ปี และกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการระบาดโรคไข้เลือดออกในชุมชนภูเขาและป่า ต่อมาได้ดำเนินการประชุมใหญ่ในภาพรวมของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระดับตำบล เมื่อวันที่ 25พฤศจิกายน 2561 มีรักษาการนายอำเภอนบพิตำว่า ที่ร้อยตรี อุทัย ทาบทอง เป็นประธานในการประชุม และนางอมตา จันทร์ปาน สาธารณสุขอำเภอนบพิตำ กล่าวรายงาน มีผู้เข้าร่วมการประชุมครอบคลุม 5 ตำบลของอำเภอนบพิตำ รวมจำนวน 81 คน

2.อำเภอพรหมคีรี วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี โดยมีนายอำเภอวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต เป็นประธานในการประชุม และนายมานพ วงศ์คช สาธารณสุขอำเภอเป็นผู้กล่าวรายงานในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ครู และอสม.


3.อำเภอพิปูน วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพรหมคีรี โดยมีรักษาการนายอำเภอพิปูน นายสุเทพ แก้วประดิษฐ์เป็นประธาน คุณจิรา เดโช สาธารณสุขอำเภอพิปูนกล่าวรายงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 70 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และอสม.


4.อำเภอถ้ำพรรณรา วันที่ 18 ตุลาคม 2561 ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอถ้ำพรรณรา นายสุรพร นนทแก้ว สาธารณสุขอำเภอถ้ำพรรณรา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 31 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และอสม.


5.อำเภอหัวไทร วันที่ 24 ตุลาคม 2561 ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหัวไทร โดยมี นพ.ยุทธพงศ์ ณ นคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวไทร และนางกิตติมา แสนลาวัลย์ สาธารณสุขอำเภอหัวไทร ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 71 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ครู และอสม.


6.อำเภอทุ่งใหญ่ วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุ่งใหญ่ โดยมี นายนพดล กีรติกรพิสุทธิ์ นายอำเภอเป็นประธานในการประชุม และนายสุธรรม บำรุงภักด ิ์สาธารณสุขอำเภอทุ่งใหญ่เป็นผู้กล่าวรายงานในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 134 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ครู และอสม.

ผลที่ได้คือ พื้นที่และ อสม. เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ได้รับการตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย มีการเตรียมพร้อม และให้ความสนใจที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อกำหนดแนวทางและนโยบายในการพัฒนาแนวทางการป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกของแต่ละพื้นที่ต่อไป



สรุปการดำเนินการในช่วงแรก จำนวน 6 อำเภอ รวมจำนวน 447 คน ในระยะต่อไปจะเป็นการดำเนินการในพื้นที่อีก 16 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป้าหมายคือการดำเนินการสร้างความตระหนักในการร่วมกันแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช สอดรับกับวิสัยทัศน์...การเป็นหลักในถิ่น...ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์