Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ปาฐกถาพิเศษ “แนวคิดและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”

อัพเดท : 17/01/2562

2207



ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ “แนวคิดและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เนื่องในโอกาสปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2562 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ณ ห้อง 203 อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวว่า ในฐานะพนักงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องรู้จักสถานะของมหาวิทยาลัยในสังคมไทยว่า เป็นองค์กรทางวิชาการ ระดับสูงของสังคม (Academic Organisation) เป็นองค์กรพหุกิจ (Multi-Tasks) ทำหน้าที่หลายด้าน ประกอบด้วย การสอนที่เป็นการสร้างคน การวิจัยที่เป็นภารกิจฝาแฝดกับการสอน เป็นการแสวงหาและสร้างความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรม ด้วยกระบวนการวิจัย ใช้วิชาการในการแก้ปัญหาสังคมและนำมาใช้ในการสอน การบริการวิชาการ เป็นการนำเอาวิชาการที่เราเสริมสร้างและสร้างสรรค์ไปสู่สังคมและประชาชน และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นธรรมแห่งความเจริญ ซึ่งทั้ง 4 ภารกิจ เป็นการสร้างคน สร้างความรู้และสร้างนวัตกรรม เพื่อไปสู่ความเป็นเลิศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศในโลกที่ 1 ทั้งนี้ภารกิจที่เป็นพหุกิจต้องอาศัย “วิชาการ” ชั้นสูง เป็นปัจจัยในการดำเนินภารกิจ จึงต้องได้คนที่มีความรู้ ความสามารถทั้งด้านวิชาการและการวิจัยมาสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินงานทั้ง 4 ภารกิจได้โดยสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งรวมความรู้ของสังคมและเป็นชุมชนทางวิชาการ (Academic Community) ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม โดยอาศัยปัจจัยทางวิชาการเป็นสำคัญ

ในการบริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องยึดหลัก 3 อย่าง คือ หลัก“อัตตาภิบาล” (Self Government) การปกครองดูแลตนเอง ประกอบด้วย 1) ความเป็นอิสระ งานทางวิชาการต้องไร้ขอบเขต การแสวงหาความรู้ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ใหม่ ต้องมีอิสระและความคล่องตัว เพื่อให้บุคลากรทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่จะทำอะไรได้เองโดยต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีความคล่องตัวและรวดเร็ว 2) มีเสรีภาพทางวิชาการ ในการกำหนดการสอน หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3) มีความรับผิดชอบต่อสังคม หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ประกอบด้วย 6 ข้อหลัก คือ นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า ซึ่งทั้ง 6 ข้อนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และวัฒนธรรม “คุณภาพ” (Quality Culture) เป็นหลักที่ต้องยึดหลักที่ 3 ต้องใช้คำว่า “เป็นเลิศ” เป็นหลักในการประกันคุณภาพเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ได้นำหลัก “อัตตาภิบาล” และ “ธรรมาภิบาล” มารวมกันและบัญญัติเป็นศัพท์คำใหม่ว่า “ธรรรมัตตาภิบาล (Self Gook Governance)” โดยนำหลัก“อัตตาภิบาล” คือ ความเป็นอิสระ มีเสรีภาพทางวิชาการ และความรับผิดชอบต่อสังคม และหลัก “ธรรมาภิบาล” คือ นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า รวมเป็น “ธรรรมัตตาภิบาล” 9 ประการ เพื่อไปสู่ความเป็นเลิศ

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวต่อเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า เป็นองค์กรทางวิชาการ “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ” ที่เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นแห่งที่สองของประเทศ ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมีความเป็นอิสระเสรีภาพทางวิชาการ มีความคล่องตัว สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการตนเอง ทั้ง 2 เรื่องนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยบรรลุความเป็นเลิศได้เร็วขึ้น โดยการเร่งรัดพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรม” จะต้องสร้างความรู้ใหม่ เป็นฐานของการทำภารกิจ ต่อยอดเกิดผลสัมฤทธิ์ทางนวัตกรรม และขยายผลไปสู่การอำนวยประโยชน์แก่สังคม ซึ่งการจะดำเนินภารกิจเหล่านี้ได้ต้องอาศัยบุคลากรหลายฝ่ายร่วมกันดำเนินการ อาทิ สายวิชาการ ส่วนปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป สายบริหารวิชาการ ฯลฯ

ดังนั้น ทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างกันสามารถทำงานร่วมกันได้ จึงต้องรู้หลักคิดเกี่ยวกับระบบสังคม “Social System” ที่ถือว่า หน่วยงานหรือองค์การเป็นระบบสังคมที่มีส่วนประกอบสำคัญ 2 มิติ คือ โครงสร้างและบุคลากรที่ร่วมกันปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ เพื่อความสำเร็จขององค์การ องค์การมีความคาดหวังและมีบทบาท ส่วนคนที่เข้ามาทำงานในองค์การก็มีความคาดหวังว่า จะทำอะไรได้ มีบทบาทที่เหมาะและไปได้กับองค์การหรือไม่ ถ้าไปด้วยกันได้ก็ปราศจากความขัดแย้ง วิธีการที่จะบริหารได้ดีที่สุด คือ ระบบบริหาร Transactional ในรูปแบบของ Harmony การทำงานจึงประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานกับบุคลากรเพื่อความสมัครสมาน (Harmony) ปราศจากความขัดแย้ง (Conflict) โดยเน้นการทำงานเป็นทีม (Team Work) มุ่งพัฒนาเจตน์จำนง (Will) และทักษะการทำงาน (Skills) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำงานเป็นทีม The will to work + Skill to work = Team work

นอกจากนี้ ยังต้องรู้แนวคิดทฤษฎีสามทักษะ “Three – skill Approach” ของ Katz ที่เสนอว่า การทำงานต้องอาศัยทักษะ 3 ประการ ทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจหน่วยงาน Conceptual skill ทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษยสัมพันธ์ Human skill หรือทักษะเทคนิคการทำงาน Technical skill ซึ่งเป็นความสามารถในการใช้ความรู้และสมรรถนะต่างๆ ในการสร้างความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ขององค์การและระดับของตำแหน่งหน้าที่ “Three – skill Approach” เป็นทักษะของผู้ทำงานทุกระดับ จะมีมากน้อยต่างกันตามบทบาทของแต่ละคน

ในการพัฒนาตนเองให้เป็นพนักงานมืออาชีพ คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยยึดการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งดำรงชีพ ทำได้ดีตามมาตรฐานอาชีพและมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยการเป็นพนักงานตามมาตรฐานและจริยธรรมของวิชาชีพทำได้ดีและมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จ ซึ่งความเป็นพนักงานมืออาชีพ หมายถึง พนักงานที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ (Skills : Conceptual, Human, Technical) ดังที่กล่าวข้างต้น มีความชำนาญสูงมาก และมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั่วไป ซึ่งการที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ ต้องใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ (Lifelong Learning) เรียนรู้จากพนักงานต้นแบบ (Mentor) หาประสบการณ์เพิ่มเติม ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปฏิบัติวิชาชีพโดยยึดมาตรฐานและจรรยาบรรณ และสร้างประสบการณ์แห่งความสำเร็จในทุกโอกาส อย่างไรก็ตาม บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องรู้จักปณิธาน วิสัยทัศน์ และค่านิยมร่วมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วย

“ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นองค์กรทางวิชาการชั้นสูง ต้องอาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการในการทำภารกิจ ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรมทที่ตรงกับความต้องการและใช้ประโยชน์ได้จริง คือ นักวิชาการและนักวิชาชีพภายใต้การนำของผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ ในบริบทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือพนักงานทุกคนจะต้องเป็นคนดีและคนเก่ง เข้าใจ เข้าถึงและพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยบนเส้นทาง “วลัยวิถี” สู่อนาคตที่ท้าทายตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วยกระบวนการพัฒนาบุคลากรให้ทุกคน เป็นมืออาชีพในกรอบของธรรมัตตาภบิาล ปณิธาน วิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมของมหาวิทยาลัย” ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้กล่าวสรุปในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง