Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รศ. ดร. วันชัย ศิริชนะ ปาฐกถาพิเศษ “ประสบการณ์ การบริหารอุดมศึกษากับมุมมองความท้าทายในปัจจุบัน”

อัพเดท : 03/04/2562

3407



รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และปูชนียบุคคลผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์ การบริหารอุดมศึกษากับมุมมองความท้าทายในปัจจุบัน” เนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 27 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี

รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย กล่าวว่า ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาขณะนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้การจัดตั้งสถาบันระดับชาติ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ไม่อาจหาซื้อได้ แต่ต้องลงมือทำ ซึ่งการสร้างมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย

รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย กล่าวต่อว่า สถาบันอุดมศึกษามีความเหมือนกัน คือ ชอบวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะ แต่ไม่ชอบทำ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมหาวิทยาลัยทั่วโลก สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยดำเนินได้ คือ จิตสำนึก ถึงแม้จะมีความมุ่งมั่นต่างกัน ซึ่งหัวใจของการเดินและความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง คือ ความปรองดอง แม้จะแตกแยกทางความคิดแต่อยู่ร่วมกันได้ แตกต่างแต่กลมกลืน ยึดโยงกันด้วยความร่วมมือร่วมใจและประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างสมัยที่เป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่า ประเด็นหลักของการบริหาร คือการขาดการสื่อสารที่ดี ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร อาจารย์/บุคลากร และนักศึกษา สิ่งเหล่านี้มักเกิดในแวดวงอุดมศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่ต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจด้วยกันทุกฝ่าย

ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ของมหาวิทยาลัย มีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 รัฐบาล มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดเป็นภาพรวม ถ้าเป็นผู้บริหารที่มีฝีมือจะบริหารจัดการการใช้งบประมาณที่ได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งหางบประมาณมาเพิ่ม ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย บางครั้งจึงจำเป็นต้องทำเกินกรอบที่รัฐบาลตั้งไว้ เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำเอาระบบ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) มาใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 นักศึกษา/ผู้ปกครอง สำคัญที่สุด ที่ทำให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ความเป็นมหาวิทยาลัยได้ครบถ้วน ผู้ปกครองนำลูกหลานมาเรียนด้วยความหวังและความตั้งใจ มหาวิทยาลัยต้องทำความหวังความฝันของนักศึกษาให้เป็นจริง ทั้งเก่ง มีความรู้ มีคุณธรรมประจำใจ และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่หล่อหลอมทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าออกไป เหมือนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นความหวังของคนภาคใต้ ซึ่งวันที่ 29 มีนาคม 2535 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว เราหวังที่จะมีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้

กลุ่มที่ 3 พนักงาน ผู้บริหารจำเป็นต้องดูแลพนักงานให้มีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังกายกำลังใจที่ดี เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจประสบความสำเร็จ โดยใช้หลักการ 3 อย่าง คือ ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ กระทำการสิ่งใดก็สำเร็จ และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร ยึดถือและปฏิบัติต่อเนื่อง แต่ก็ยากที่จะทำให้เกิดพร้อมกัน แต่ถ้าเกิดได้เป็นสิ่งที่ดีของมหาวิทยาลัย สิ่งที่ต้องคิดให้มากที่สุด คือ ความร่วมมือร่วมใจที่จะให้มหาวิทยาลัยเดินไปข้างหน้าให้ได้

รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ได้กล่าวถึงจุดอ่อนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า เป็นระบบของมหาวิทยาลัยเอง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับสูง เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี และคณบดี เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือสรรหา จากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ความรักความนับถือของสมาชิกในสถาบันนั้นๆ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่สิ่งสำคัญของการเป็นผู้บริหาร คือ ความสามารถในการบริหารมหาวิทยาลัย การเป็นผู้บริหารโดยที่ไม่รู้รากเหง้าและหลักการบริหาร ทำให้เกิดการลองผิดลองถูก และมักจะเป็นเบี้ยล่างของเจ้าหน้าที่ธุรการ พัสดุ การเงินและงานบุคคล ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการบริหารงานที่ผิดพลาดและมีโอกาสที่จะถูกฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นจุดแข็งที่ได้คนดี มีความรู้ความสามารถ และสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างดี

จากประสบการณ์การบริหารงานของ รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย พบว่า ผู้บริหารมี 3 แบบ คือ 1) เป็นนักสั่ง แต่ขาดการให้คำแนะนำและช่วยลงมือปฏิบัติ 2) เป็นนักสั่งและแนะนำ และ 3) เป็นนักสั่ง แนะนำและลงมือปฏิบัติ ซึ่งแบบที่ 3 ผู้บริหารจะเหนื่อย

จุดอ่อนที่ 2 คือ ความสามารถในการบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง บุคลิกความเป็นผู้นำของอาจารย์ที่มาเป็นผู้บริหารมักจะขาด บางครั้งลืมบทบาทของตัวเองในฐานะผู้บริหาร จึงทำให้เกิดความลำบากใจในการทำงาน จุดอ่อนที่ 3 ความรู้ด้านการเงิน ทรัพย์สินและบัญชี ถ้าผู้บริหารไม่มีความเข้าใจว่า ถ้าไม่มีเงินจะต้องหา ต้องมี Reserved Fund ไว้เสมอ เมื่อมีความจำเป็นหรือมีความคิดดีๆ เกิดขึ้น จะได้นำมาใช้ดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเป็นผู้บริหาร

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ยังได้บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับภายนอกจะช่วยเสริมสร้างสติปัญญาที่ดี อาจจุดประกายให้เกิดความคิดที่ดีและนำไปสานต่อ ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวเดินไปข้างหน้าได้ ดังคำที่ว่า “รู้อะไร ไม่สู้รู้จักกัน” เมื่อเกิดความเป็นมิตร จะได้ช่วยเหลือกันได้

คนที่จะมาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ดีที่สุด รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย บอกว่า ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล มีจินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้โดดเด่น มีเอกลักษณ์ของตนเองและจะเกิดแรงบันดาลใจ กล่าวคือ ต้องมี Vision, Imagination and Inspiration แต่บางครั้งมี 3 อย่าง แต่ไม่ได้ทำก็เป็นเพียงความฝัน อาจเนื่องจากคิดคนเดียว ไม่มีคนช่วยทำ มีคนช่วย แต่ไม่มีเงิน หรือสิ่งที่คิดเกินเลยต่อยุคปัจจุบัน ดังนั้น ความฝันต้องมีความพอเหมาะ พอดี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความซื่อสัตย์ สุจริตของทุกคนในองค์กร เพราะมหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างของสังคม เหมือนเป็นรูปเคารพ มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งสะท้อนถึงความศรัทธาที่บุคคลภายนอกมีต่อมหาวิทยาลัย ความช่วยเหลือต่างๆ ก็จะมีเข้ามา ถึงผู้บริหารไม่เก่ง แต่ถ้าคนศรัทธาในความซื่อสัตย์ก็จะสะท้อนในกระบวนการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัย

“สังคมปัจจุบันมองอนาคตสั้น คำนึงถึงตัวตนของตัวเอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะทำอะไร ให้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมในระยะยาว ถ้าทำให้นักศึกษาเข้าใจกรอบของความถูกต้อง มีคุณธรรม นักศึกษาจะเป็นผู้สืบทอดบ้านเมือง ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องบริหารความคิด ทัศนคติของนักศึกษาเพื่อนำประเทศไปสู่ความสงบ” รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ ได้ฝากไว้ในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง