Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์รับธงเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการ อพ.สธ.ครั้งที่ 11

06/12/2562

4524



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รับมอบธงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ในเดือนมีนาคม ปี 2565 และการประชุมวิชาการและนิทรรศการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับภูมิภาค ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2563

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา อาจารย์สุธีระ ทองขาว รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานพฤกษศาสตร์ ร่วมรับมอบธงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมนำการแสดงชุด “คีตาขับขานตำนานเมืองนคร” โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมแสดง ในพิธีปิดงาน อพ.สธ.ครั้งที่ 10 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มทร.อีสาน ศูนย์หนองระเวียง จังหวัดนครราชสีมา

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการ อพ.สธ.ครั้งที่ 11 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นเวทีเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของโครงการ ฯ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ นำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรไทย ให้เด็กและเยาวชน ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากร ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน

"มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งภารกิจของมหาวิทยาลัยคือร่วมสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชในภาคใต้ซึ่งมีจำนวนมาก และมีความหลากหลาย ที่สำคัญขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืชให้เยาวชนและประชาชนเข้ามาศึกษาหาความรู้ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2564 โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงร่วมกันต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วประเทศในช่วงดังกล่าว” ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัยกล่าว







ประมวลภาพ