Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ปาฐกถาพิเศษ “สิ่งท้าทายสังคมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”

26/07/2555

3788

 



 

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ปาฐกถาพิเศษ “สิ่งท้าทายสังคมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ในงาน “วลัยลักษณ์วิชาการ 2555” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ณ ห้อง 301 อาคารเรียนรวม 1 ว่า สิ่งท้าทายสังคมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คือ สังคมไทยนั่นเอง เนื่องจากสังคมไทยกำลังมีปัญหา ขาดความพอเพียง มีความรุนแรงมากขึ้น มีความสับสนว่า อะไรผิด อะไรถูก ขาดการยอมรับในความแตกต่าง และแก้ปัญหาการเมืองด้วยตัวเองไม่ได้
 

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการศิลปศาสตร์วิชาการ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน “วลัยลักษณ์วิชาการ 2555” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ “สิ่งท้าทายสังคมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ผู้ประสานงานหลักสูตรรัฐศาสตร์ กล่าวรายงาน และ ดร.วรรัตน์ หวานจิตต์ รองคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ กล่าวแนะนำองค์ปาฐก

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้พูดถึงประชาคมอาเซียนใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ความเป็นมา ข้อดี ข้อด้อยของประชาคมอาเซียน ส่วนที่ 2 สิ่งใดที่ท้าทายสังคมไทย และส่วนที่ 3 สิ่งท้าทายสังคมไทย โดยได้เล่าว่า ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นจากการลงนามในปฎิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ จนปัจจุบัน มีสมาชิกเพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา รวม 10 ประเทศ และได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน 3 ด้าน หรือเสาหลักของอาเซียน คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
 

ข้อดีของประชาคมอาเซียนในด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น สิทธิมนุษยชน การระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี เรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ภัยพิบัติ และการค้ามนุษย์ ด้านเศรษฐกิจ โดยในปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลอย่างเป็นทางการ ทำให้มีผลประโยชน์ และอำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น การนำเข้า - ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรีขึ้น และมีการโยกย้ายแรงงานมีฝีมือระหว่างประเทศมากขึ้น ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ประเทศไทยต้องเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความกินดีอยู่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข ทั้งนี้ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมการเมืองและความมั่นคงเป็นฐานสำคัญทางด้านประชาคมเศรษฐกิจ
 

ข้อเสียของประชาคมอาเซียน มีพลเมืองรวมกันกว่า 600 ล้านคน แต่ขาดความเป็นประชาคมอาเซียน ขาดการกำหนดยุทธศาสตร์/นโยบายร่วม ขาดความรู้ด้านอาเซียน ขาดความแน่นแฟ้นของประชาสังคม เกิดผลลบจากการเปิดเสรีด้านการเกษตร ทำให้การแข่งขันในภาคเอกชนสูงมาก เรื่องผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน ไม่ชอบการเผชิญหน้า ไม่ชอบใช้กฎหมาย และขาดความร่วมมือด้านสื่อมวลชน สังคมและวัฒนธรรม
 

ทั้งนี้ โดยภาพรวมของประชาคมอาเซียนเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นตลาดใหญ่ ทำเลที่ตั้งของประเทศกลุ่มเซียนอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค โดยประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของอำนาจใหม่ทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย และไม่ได้ไปคุกคามใคร
 

สิ่งที่ท้าทายประเทศไทย คือ ต้องทราบว่าใครเป็นใครในแต่ละประเทศ ทัศนคติของคนไทยที่ไปดูแคลนประเทศเพื่อนบ้าน การเตรียมการของภาครัฐ การกำหนดนโยบายเป้าหมาย และการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ หากมองในมิติของสังคมไทย ภาคประชาสังคมจะต้องก้าวให้ทันโลกดิจิตัล ต้องมีความรู้ด้านภาษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับตัว การสร้างภูมิคุ้มกันด้านสาธารณสุข และการดูแลด้านความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน การเตรียมใจในการเป็นประชาคมอาเซียน เช่น ความอ่อนไหวทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา สร้างพลังในการเตรียมสังคมของไทย รวมทั้งการวางและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของโลกได้
 

สิ่งที่ท้าทายสังคมไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คือ สังคมไทย เนื่องจากสังคมไทยมีปัญหาและเลือกข้าง มีความรุนแรงมากขึ้น ขาดความพอเพียงโดยเฉพาะทางวัตถุนิยม มีความสับสนว่าอะไรผิด อะไรถูก เช่น การชุมนุมของฝ่ายต่างๆ การขาดความพยายามที่จะเข้าใจกัน ขาดความยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน แก้ปัญหาการเมืองด้วยตัวเองไม่ได้ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เสนอแนวคิดว่า ต้องสร้างประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา การปรองดองจะเกิดขึ้นได้จากการเจรจา เริ่มที่สังคมก่อนและไปออกกฎหมายในรัฐสภา โดยดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ประชาเสวนา โดยถามความคิดเห็นจากประชาชนในลักษณะการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงพูดคุยถามความคิดเห็น และหาบุคคลในการเจรจาซึ่งอาจมีหลายๆ คนได้ และการเสวนาหาทางออกของกลุ่มที่มีความขัดแย้ง เพื่อหาทางออกของการอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องพึ่งสถาบันทางวัฒนธรรม
 

โอกาสนี้ ทางสำนักวิชาศิลปศาสตร์ได้จัดแสดงขับร้องเพลงประสานเสียง “เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” และ “เพลง The ASEAN Way” เพื่อแสดงถึงความพร้อมของชาววลัยลักษณ์ที่ให้ความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาของไทยสู่ประชาคมอาเซียน และการแสดงการรำ “โนรา” นาฏลีลาไทย (ใต้) สู่อาเซียน โดยชมรม WU Chorus and Theatre Arts อีกด้วย


ข่าวโดย สมพร อิสรไกรศีล
ภาพโดย บรรพต ใบมิเด็น