Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดีประกาศจุดยืน “ความสุจริต โปร่งใส” คือ หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 12/06/2563

2440

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิด“โครงการปลูกฝังค่านิยมสุจริตและสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในองค์กร” เน้นย้ำเรื่องความสุจริตโปร่งใส คือ สิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดในการทำงานเพื่อนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความรุ่งโรจน์ โดยมีบุคลากรเข้าร่วมจำนวนกว่า 250 คน


          วันนี้ (09 มิ.ย.2563) เวลา 09.00 น.  ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิด “โครงการปลูกฝังค่านิยมสุจริตและสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในองค์กร” ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใส การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สร้างค่านิยมความสุจริตในองค์กร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเน้นย้ำและเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง


          ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของโลกและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เพราะประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นมาก การพัฒนาจะล่าช้าและจะทำให้งบประมาณซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด แทนที่จะไปถึงประชาชนกลับไปเข้ากระเป๋าคนบางคน จากข้อมูลขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยเฉพาะ 10 ปีย้อนหลังมานี้ คะแนนเฉลี่ยเรื่องความโปร่งใสของโลกอยู่ที่ 43/100 คะแนน แต่คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 40/100 คะแนน โดยเฉพาะปีล่าสุดประเทศไทยได้ 36/100 คะแนน แต่อันดับโลกร่วงลงจากอันดับที่ 99 เป็นอันดับที่ 101 ของโลก ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียนพบว่า อันดับ 1 คือ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 85/100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก และประเทศมาเลเซียได้ 47/100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 51 ของโลก ส่วนประเทศไทยขณะนี้คะแนนด้านความโปร่งใส ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาและไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังค่านิยมสุจริต ไม่คอรัปชั่นให้คนในชาติ

 


          ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวอีกว่า ตลอดอายุการรับราชการ ทำงานด้านวิชาการมาจนใกล้เกษียณ การดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั้น มีโอกาสที่จะคอรัปชั่นได้มากกว่าการสอนอยู่แต่ในห้องเรียน แต่แม้จะมีโอกาสแต่ไม่เคยมีความคิดที่จะทำ ไม่เคยคิดเรื่องการทุจริต ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้รับเหมา ผู้ร่วมงานทุกคนจะรู้ว่า โครงการมูลค่าหลายร้อยล้านของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ การทำงานที่นี่ไม่มีเงินใต้โต๊ะ ราคากลางไม่หลอกลวง ทำให้เหมาะสมและจะมีเงินเหลือจากการจัดซื้อจัดจ้างทุกปี จากประสบการณ์การจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าจะเป็นครุภัณฑ์หรือการก่อสร้างต้องทำแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น


          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีงบประมาณสำหรับการจัดซื้อครุภัณฑ์ตามสมควร ตามสมรรถภาพของมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่มหาวิทยาลัยได้นำงบประมาณมาใช้อย่างเข้มข้น เกิดประโยชน์สูงสุดและนำมาใช้อย่างสุจริตโปร่งใส ผู้รับเหมา ผู้รับจ้างที่มาทำงานที่นี่ สิ่งที่มหาวิทยลัยขอคือ ทำงานตามสเปคและทำงานทันตามเวลา แล้วมหาวิทยาลัยจะตอบแทนด้วยการจ่ายเลย จ่ายเร็ว โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญสูงสุดกับการให้บุคลากรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความประหยัด ซื่อสัตย์ สุจริตและโปร่งใส


          ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวส่งท้ายว่า ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานโดยสุจริต โปร่งใส ยึดผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง ขอบคุณที่ทุกท่านช่วยกันดูแล และทำงานด้วยความมุ่งมั่น ที่จะรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย เราไม่สามารถห้ามความคิดของใครก็ตามที่ไม่เชื่อมั่นเราได้ แต่เราจะต้องเป็นอย่างที่เราควรจะเป็น คือ เราต้องเป็นพนักงานของรัฐที่ซื่อสัตย์สุจริต ยึดผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้ง เพราะหมายถึงการรักษาผลประโยชน์ของรัฐด้วย ถ้าเรามุ่งมั่นทำงานด้วยความรู้สึกอย่างนี้ เราก็จะนำพามหาวิทยาลัยของเราไปสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคตได้ แล้วเมื่อวัน เวลา ผ่านไป ก็จะได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ให้คนทั่วไปรู้ว่า ที่นี่เป็นองค์กรของรัฐ องค์กรที่ไม่มีเรื่องการทุจริต

 

          ทั้งนี้ “โครงการปลูกฝังค่านิยมสุจริตและสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตในองค์กร” เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยหน่วยตรวจสอบภายในและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตอบสนองเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ  และเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการเสริมสร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้กับผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ ๓  (พ.ศ. ๒๕๖๐ -๒๕๖๔) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนน ภายในปี พ.ศ. 2564 โดยมี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย กล่าวรายงาน และ นายมีชัย  โอ้น  เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ (1) ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน  (2) ผลประโยชน์ทับซ้อนและการตรวจสอบทรัพย์สิน  และ (3) วินัยและความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินและการบริหารงบประมาณ  

ประมวลภาพ


ข่าวและภาพโดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร