Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.-เครือข่ายสหกิจฯ ภาคใต้ตอนบน-สมาคมสหกิจฯไทย จัดอบรม “สหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายสหกิจฯ ภาคใต้ รุ่นที่ 1”

22/09/2563

1382

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) โดยศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ตอนบน และสมาคมสหกิจศึกษาไทย จัดโครงการอบรม “การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้  รุ่นที่ 1” ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุม โรงแรมแกรด์ฟอร์จูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเสริมสร้างศักยภาพอาจารย์ของเครือข่ายฯ ให้เกิดความพร้อมในการเตรียมการและสามารถจัดสหกิจศึกษานานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสหกิจ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจาก 8 สถาบัน

 

          ในพิธีเปิดการอบรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย กล่าวปฐมนิเทศ  พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “จาก Coop สู่ CWIE” ห้วข้อ “ แนวคิดการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ” และ “รูปแบบการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม

 

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอกราบขอบพระคุณศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ คูณศรีสุข เลขาธิการสมาคมสหกิจศึกษาไทย วิทยากรจากสมาคมสหกิจศึกษาไทย คณาจารย์ และทุกท่านที่มาร่วมในการอบรม“การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้  รุ่นที่ 1” ในวันนี้ เนื่องจากการจัดสหกิจศึกษาไทย เป็นความคิดริเริ่มของท่านนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ การจัดการศึกษาโดยทั่วไป มักได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการ คือ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วทำงานไม่เป็น เก่งทฤษฎีแต่ปฏิบัติงานจริงไม่ได้ แต่เมื่อเข้าสู่โครงการสหกิจศึกษากลับได้รับคำชื่นชม นักศึกษาเรียนจบแล้วสามารถทำงานได้จริง เพราะสหกิจศึกษา คือ การทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้   ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ขยายเวลาสหกิจศึกษาจากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติงานได้จริงมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยได้ทำ MOU กับ 12 สถานประกอบการชั้นนำของไทย ซึ่งผู้ประกอบการต่างพึงพอใจกับการขยายระยะเวลาสหกิจศึกษา วิธีนี้จะทำให้บัณฑิตมีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่ทำการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ นี่คือการขยายผลจากแนวคิดของท่านนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ที่จะทำให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการ และจะได้เลือกสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานให้นักศึกษาไปฝึกงานในระยะเวลายาวนานขึ้นถึง 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษาทำงานที่ดีจริง ซึ่งทางศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเครือข่ายสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานกว่า 500 แห่ง รองรับการสหกิจศึกษา ดังคำขวัญที่ว่า “บัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ เก่งวิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ”  หมายความว่าบัณฑิตต้องมีการปฏิบัติงานได้อย่างเชี่ยวชาญจริง


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวในช่วงท้ายว่า การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ มีเรื่องที่มีความสำคัญกับนักศึกษาไทยประการแรก คือ เรื่องภาษา ไปสหกิจศึกษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษจะต้องแข็งแรง ประการที่สอง คือค่าใช้จ่าย นักศึกษาสหกิจศึกษาต่างประเทศต้องออกค่าใช้จ่ายเอง มหาวิทยาลัยได้เร่งดำเนินการแก้ไขทั้งสองเรื่อง คือ การปรับปรุง English communication เพื่อนักศึกษามีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ 25% ในชั้นปีที่ 2 และ 50% ในชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยคาดหวังว่า  นักศึกษาจะมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย มหาวิทยาลัยกำลังประสานงานกับสถานประกอบการที่สามารถดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้นักศึกษาได้ และในอนาคตตั้งใจว่า  จะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการสหกิจศึกษานานาชาติ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษา เพราะการสหกิจศึกษาในต่างประเทศถือเป็นโอกาส เป็นใบเบิกทางสู่การทำงานที่ดีในอนาคตของนักศึกษา


            ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย กล่าวว่า สหกิจศึกษา หรือ (Cooperative Education) ได้รับการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซินซินนาติ ในปี คศ 1906 (พ.ศ 2449) โดยคณบดี Herman Schneider  ในส่วนของประเทศไทยได้จัดสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาแล้ว 27 ปี นับจากการเริ่มจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นครั้งแรก ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยประมาณ 120 แห่งหรือเกือบ 70% จัดสหกิจศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาตรี ใน พ.ศ 2556-2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  ได้จัดทำแผนส่งเสริมการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและการจัดการศึกษานานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการพัฒนาแรงงานความรู้สู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ได้สนับสนุนให้สมาคมสหกิจศึกษาไทยจัดทำหลักสูตรผลิตและพัฒนาสื่อและการจัดการฝึกอบรมส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการศึกษาและการจัดสหกิจศึกษานานาชาติให้แก่บุคลากรของสถานศึกษา โดยลิขสิทธิ์เป็นของสมาคมสหกิจศึกษาไทย ลักษณะหลักสูตรฝึกอบรมที่มีสาระความรู้และประสบการณ์สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1) สาระความรู้พื้นฐานที่สำคัญเกี่ยวกับสหกิจศึกษา 2) สาระความรู้เฉพาะด้านสำหรับการดำเนินงานสหกิจศึกษานานาชาติ โดยหลักสูตรการอบรมใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิตทวิภาค วิธีการอบรมเป็นการอบรมเข้มระยะเวลา 2 วัน มีกิจกรรมการอบรมประกอบด้วย 1) การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2) กรณีศึกษาโดยผู้บริหาร ผู้นิเทศงาน นักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติ จาก Western Digital (Thailand) Co.,Ltd. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสมาคมสหกิจศึกษาไทยจะมอบสัมฤทธิบัตรแก่ผู้เข้ารับการอบรมที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ 1) เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร 2) มีส่วนร่วมในการอบรมและทำกิจกรรมตามที่หลักสูตรกำหนด ผ่านความเห็นชอบของคณะวิทยากรการอบรม

 

 

         
             โครงการอบรม “การจัดสหกิจศึกษานานาชาติ เครือข่ายพัฒนาสหกิจศึกษาภาคใต้ รุ่นที่ 1"  โดยศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ ม.วลัยลักษณ์ ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ แย้มนุ่น บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การประเมินผลสหกิจศึกษานานาชาติ”  รองศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ คูณศรีสุข บรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวปฏิบัติการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ”  การเสวนากรณีศึกษาการจัดสหกิจศึกษานานาชาติ โดย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ฉวีราช และ คุณจริณี ใจภูมิ

 

 

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร