Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม “มวล.สู่โรงเรียน เกื้อกูล กลมเกลียว เกี่ยวร้อยสายใจชุมชนสัมพันธ์” สรุปผลการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ทั้งมิติการศึกษา สุขภาพ อาชีพ สังคมและวัฒนธรรม

อัพเดท : 22/01/2564

2357

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เป็นประธานในกิจกรรม “มวล.สู่โรงเรียน เกื้อกูล กลมเกลียว เกี่ยวร้อยสายใจชุมชนสัมพันธ์” จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ จับมือภาคีเครือข่าย โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มวล.และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ณ โรงเรียนชุมชนใหม่  อ.ท่าศาลา จ.นครศรีฯ โอกาสนี้ว่าที่ร้อยโท ดร.สุเวศ กลับศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครศรีธรรมราช เขต 4 (สพป.นศ.4) กล่าวต้อนรับ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มวล. กล่าวรายงานผลการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564  

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจมาพบปะกับชาวชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เนื่องจาก มวล.ได้เข้ามาทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรงเรียนและชุมชน มวล.ดูแลเรื่องการศึกษาอยู่ปลายน้ำเพราะเป็นการศึกษาระดับอุดมศึกษา ส่วนกลางน้ำ คือการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับประถมศึกษาคือต้นน้ำ ถ้าต้นน้ำไม่ดีปลายน้ำจะลำบากมาก เพราะฉะนั้น เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับการศึกษาขั้นต้นของเยาวชน เพื่อทำให้การศึกษาต้นน้ำดีมีคุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไม่ได้ถ้าทรัพยากรบุคคลล้าหลัง จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้วนมาจากการมีทรัพยากรบุคคลในประเทศที่ได้รับการพัฒนาทั้งสิ้น เรื่องการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันการศึกษาต้องดูแล”

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่ออีกว่า “มวล.ทุ่มเทอย่างมากให้กับการปฏิรูปการเรียนการสอน ด้วยการเปลี่ยนแปลงผู้สอนให้สอนแบบมืออาชีพ ตามมาตรฐาน UKPSF เน้นทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็น Smart Class room อาจารย์ 100% ผ่านการอบรมกรอบ UKPSF และมีอาจารย์ได้รับประกาศนียบัตร UKPSF จำนวน 265 คน อยู่ในอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นพิเศษและหวังว่าในอนาคต มวล. จะเป็นแบบอย่างของการศึกษาและเมื่อมหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งและชำนาญมากขึ้น จะได้ถ่ายทอดองค์คงามรู้ให้คณะครูอาจารย์โรงเรียนชุมชนใหม่ต่อไป เพราะผลสัมฤทธิ์ของลักษณะการสอนแบบนี้ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นจริง”

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโรงเรียนชุมชนใหม่ ทางมหาวิทยลัยมีหน่วยงานและสำนักวิชาต่างๆเข้ามาทำงานด้วยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า มวล.ให้ความสำคัญกับการเติบโตและความเข้มแข็งของชุมชน และเป็นความุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยลัยกับนักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ โดยจะกำหนดให้นักเรียนที่มีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนใดก็ตาม หากยังสามารถรักษามาตรฐาน หรือคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ มวล.กำหนดไว้ได้ จะได้รับทุนการศึกษา เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สิ่งนี้เพื่อเป็นสิทธิพิเศษให้กับเด็กๆเยาวชนชาวชุมชนวลัยลักษณ์ฯ เด็กๆนักเรียนทุกคนเมื่อโตไปแล้วมหาวิทยาลัยก็จะยังดูแลทุกคนอย่างดี”

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวทิ้งท่ายว่า “เด็กทุกคนในโลกเกิดมาล้วนมีความสามารถทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและโรงเรียนที่ต้องค้นให้เจอ ว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถ ความชอบ และความถนัดด้านใด บางคนอาจจะเล่นกีฬาเก่ง บางคนทำกับข้าวเก่ง ร้องเพลงเก่ง เก่งวิทยาศาสตร์เก่ง เก่งคณิตศาสตร์ เก่งภาษา ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ต้องส่งเสริมให้เด็กๆค้นหาตัวเองให้เจอ เพื่อส่งเสริมพัฒนาในสิ่งที่เขาชอบ เพื่ออนาคตและประกอบอาชีพที่เขาถนัดต่อไป”

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มวล. กล่าวรายงานผลการดำเนินงานว่า “งานทุกชิ้นที่ มวล.ดำเนินการมาจากนโยบายของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น เป็นความร่วมมือของคณาจารย์ บุคลากรแลนักศึกษาสำนักวิชาต่างๆ และเครือข่ายท้องถิ่นที่จับมือกันพัฒนางานอย่างยอดเยี่ยมทั้งมิติการศึกษา มิติสุขภาพ และอาชีพ โจทย์งานที่ มวล.ทำมาจากการสำรวจความต้องการของชุมชน ยึดความต้องการของชุมชนเป็นหลัก มวล.จะทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่ทำร่วมกัน เช่น หลักสูตรบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั้วไปและบริษัทเบทาโกร จำกัด(มหาชน) การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร โดยการสนับสนุนจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี การผลิตแก็สธรรมชาติจากมูลสุกร โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยติดเตียง โดยสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ การนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลสุขภาพ การผลิตน้ำมันนวดเพื่อใช้บรรเทาโรคและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ (WU Happy Tree) โดยความร่วมมือจากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และโครงการอื่นๆอีกมากมายซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะเห็นชุมชนเติบโตและเข้มแข็งไปพร้อมๆกับมหาวิทยาลัย”ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าว

โรงเรียนชุมชนใหม่ เป็นโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ปัจจุบันมีราษฏรอาศัยอยู่ 1,200 ครัวเรือน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยความร่วมมือของ มวล.และหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน โรงเรียนชุมชนใหม่ สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและ สพป.นศ.4 เป็นโรงเรียนต้นแบบในการบริหารจัดการที่ดิน มีการจัดการเรียนการสอนให้กับบุตรหลานของราษฎรในชุมชนแห่งนี้ จนสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา ด้วยความร่วมมือของศูนย์บริการวิชาการ สำนักวิชาต่างๆ ของมวล. และบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงที่ครบวงจร สามารถให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง ปัจจุบัน โรงเรียนชุมชนใหม่ เปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2  มีนักเรียนจำนวน 185 คน คณะครูและบุคลากรอีก 21 คน ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพอื่นๆของผู้เรียนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเภาคีเครือข่าย

 

  

 

  

 

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพ โดย น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร