Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

17/02/2557

11597

เมื่อ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคุณวัชรา หงส์ประภัศร รองประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่ดูการปรับสภาพพื้นที่ จำนวน 250 ไร่ ที่จะทำการก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศูนย์วิจัยวิทยาการสุขภาพ รวมทั้งคลินิกกายภาพบำบัด ซึงเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ใด้เปิดให้บริการแล้ว

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร เปิดเผยถึงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระยะที่ 1 มูลค่า 2,158 ล้านบาท รองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง กับกิจการร่วมค้า พี วี ที ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธาน เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับกรอบเงินงบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์การแพทย์นี้ เป็นเงินประมาณ 5,651 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างอาคาร ครุภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยรวม 550 เตียง ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการโครงการ 6 ปี โดยสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2561

 

ศูนย์การแพทย์เป็นศูนย์กลางของสำนักวิชาในระบบวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยสำนักวิชาต่างๆ ได้แก่ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ โดยทำหน้าที่ให้การศึกษาวิจัยและบริการด้านสุขภาพแก่สังคม ซึ่งสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และคณะผู้บริหารได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ จึงได้ร่วมกันผลักดัน เนื่องจากเห็นถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งขาดโรงพยาบาลศูนย์ที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยในภาคใต้ตอนบน รวมทั้งให้บริการการเรียนการสอน ฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ โดยบูรณาการงานทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการเรียนการสอนทุกสำนักวิชาที่กล่าวข้างต้นแล้ว รวมทั้งการวิจัยทั้งทางคลินิกและงานวิจัยประยุกต์ ที่ครอบคลุมงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ด้วย เนื่องจากการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย หรือการฟื้นฟูปัจจัยทางด้านจิตใจ มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย นอกจากนี้ยังให้บริการสุขภาพแก่ชุมชน ในระดับก้าวหน้าและทันสมัยซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในเขตภาคใต้ตอนบนและชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก