Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผศ.ดร.ศิริพร ภักดีผาสุข บรรยายพิเศษ “ทิศทางการศึกษาวิจัยคติชนไทย”

16/07/2557

11415

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร ภักดีผาสุข อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการศึกษาวิจัยคติชนไทย” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 4B อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร ได้เริ่มเล่าถึงพัฒนาการของคติชนวิทยา (Folklore) ว่า คติชนวิทยาคือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเริ่มต้นมาจากแนวคิดของนักคิดชาวเยอรมันนี Johann Gottfried von Herder เสนอแนวคิด Romantic nationalism ซึ่งสนใจสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ห่างไกลความเจริญ เป็นการรวบรวมศึกษาเรื่องเล่าพื้นบ้านเพื่อเข้าถึงประวัติศาสตร์แห่งชาติและอัตลักษณ์ของชาติ ทำให้เกิดการศึกษาคติชน “volkskunde” จากนั้นพี่น้องตระกูลกริมม์ ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านของเยอรมันที่เราได้รู้จักกันถึงทุกวันนี้ ทั้งยังมีการรวบรวมบทกวีของนักคติชนวิทยาชาวฟินแลนด์และอังกฤษอีกด้วย จากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล William Jones Thoms จึงได้ใช้คำว่า “Folklore” ซึ่งมาจากคำว่า “volkskunde” เป็นจุดตั้งต้นของศาสตร์นี้

แนวการศึกษาคติชนวิทยาในสหรัฐอมริกา ตั้งเป็นกลุ่ม American Folklore Society เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูลและการจำแนกข้อมูล เพื่อให้เห็นระบบคิดหรือตัวตนของเรื่องนั้นๆ โดยได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อการจำแนก พร้อมทั้งสร้างนิยามของคำนั้นๆ มีการขัดแย้งระหว่าง Folklore และ Fakelore มีการสร้างนิยามใหม่ของ Folk ว่า เป็นกลุ่มคนที่มีอย่างน้อย 1 อย่างร่วมกัน เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของคน มีการศึกษาปริบทและพิจารณาคติชนในฐานะกระบวนการสื่อสารการแสดง ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ขณะเดียวกันเริ่มสนใจศึกษาคติชนในเมืองและคติชนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ การศึกษาวัฒนธรรมในเชิงการเมือง การวิเคราะห์สาขาวิชาคติชนวิทยาทางการเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสหสาขาวิทยาการ มีนักคิด นักเขียนและหนังสือที่เกี่ยวกับ Folklore เช่น The Types of the folktale : a classificationand bibliography ของ Antti Aarne Morphology of Folk Tale ของ Vladimir Propp เป็นต้น

การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการศึกษาคติชนวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร บอกว่า ได้เปลี่ยนจากตัวบท เป็นสื่อแสดง กระบวนการสื่อสารตัวบทในปริบท (ปริบทการสื่อสาร และปริบททางสังคมวัฒนธรรม) การเก็บรวบรวมและจำแนกข้อมูล การนิยาม การศึกษาโครงสร้าง การวิเคราะห์องค์ประกอบ แบบเรื่อง เป็นการศึกษาความหมาย/บทบาท/หน้าที่ของตัวบทต่อสังคม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริบทและตัวบท มีการเพิ่มประเด็นการศึกษาในทางคติชนวิทยา เช่น นิทานและเรื่องเล่าพื้นบ้าน ความเชื่อพื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก สิ่งประดิษฐ์พื้นบ้าน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์และการแยกย้ายถิ่นฐาน วัฒนธรรมประชานิยม และคติชนบนอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

การศึกษาคติชนของไทยเริ่มจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นการเก็บ สงวน รักษามรดกทางวัฒนธรรม เป็นการตอบโจทย์ความเป็นชาติ จากเพลงกล่อมเด็ก ช่วงของพระยาอนุมานราชธน เป็นการบันทึกประเพณีเกี่ยวกับชีวิตและชีวิตชาวไทยสมัยก่อน เพื่อเก็บรักษาความเป็นวัฒนธรรมของไทยไว้ พัฒนาการที่สำคัญของการศึกษาคติชนไทย เริ่มจากปี 2509 เปิดสอนรายวิชาคติชนในระดับอุดมศึกษา ปี 2516 เปิดภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย (คติชนวิทยา) ศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการศึกษาคติชนในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร ได้พูดถึงทิศทางการศึกษาวิจัยโดยแยกเป็น 1) การศึกษารวบรวมและการจัดจำแนกตัวบท อาจเป็นการสำรวจโดยศึกษาพื้นที่เดียวแต่ศึกษาทั้งหมด หรือการตั้งประเด็นและศึกษาหลายพื้นที่ เช่น การศึกษาข้อมูลทางคติชนในชุมชนขุนทะเล โดย อร่าม ด้วงชนะ พระคเณศ : ตำนานและพิธีกรรมในสังคมไทย โดย ราชันย์ เวียงเพิ่ม 2) การวิเคราะห์องค์ประกอบและโครงสร้าง เช่น การศึกษาวรรณกรรมนิทานไทยตามทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพ์ โดย พิชญานี เชิงคิรี การวิเคราะห์โครงสร้างนิทานพื้นบ้านไทยมุสลิมภาคใต้ตามทฤษฎีโครงสร้างนิทานของวลาดิมีร์ พรอพ์ โดย กิตสุรางค์ กาฬสุวรรณ แบบเรื่องนิทานสังข์ทอง : ความแพร่หลายและการแตกเรื่อง โดย วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน 3) งานวิจัยภาคสนามทางคติชน เช่น พลวัตของการสวดอ่านวรรณกรรมเรื่องพระมาลัย : การศึกษาเปรียบเทียบการสวดพระมาลัยที่จังหวัดกาญจนบุรีและชลบุรี โดย ปรมินท์ จารุวร ลัทธิพิธีการนับถือเจ้าแม่สองนางกับชุมชนชายฝั่งลุ่มน้ำโขง โดย ภาณุพงศ์ อุดมศิลป์ 4) การใช้คติชนในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย เช่น โครงการวิจัยชุด “คติชนสร้างสรรค์ : พลวัตของการนำคติชนไปใช้ในปริบทสังคมไทยร่วมสมัย 5) คติชนสมัยใหม่และวัฒนธรรมประชานิยม เช่น ละครนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ในโทรทัศน์ โดย ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง นิทานในเกมคอมพิวเตอร์ : การสืบสานและสร้างสรรค์ โดย กิจจา รัตนการุณย์ การวิเคราะห์รูปแบบและเนิ้อหาของนิทานไทยบนสื่ออินเตอร์เน็ต โดย สุกัญญา ตั้งเรืองเกียรติ การศึกษาผลงานของ “ดังตฤณ” ในฐานะวรรณกรรมพุทธศาสนาแนววัฒนธรรมประชานิยม โดย สุธีรา สัตยพันธุ์ 6) การบูรณาการศาสตร์ เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์พี่น้องในเทพนิยายไทยและเทพนิยายกริมม์ โดย ณัฏฐิกา บุญรัศมี ภาพตัวแทนพระสุริโยทัยในวรรณกรรมไทย โดย กษริน วงษ์กิตติชวลิต เป็นต้น



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ภาพ