Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ : ความเป็น “ครู” ที่ต้องเรียนรู้และทำเป็น

03/08/2558

7064

อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ หัวหน้าสาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีความเป็น “ครู” มากกว่าการเป็นแค่ “ผู้สอน” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และค้นหาความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการ “เรียนรู้” ร่วมกันทั้งในและนอกชั้นเรียน

อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่ไปใช้ชีวิตการเรียนและการทำงานในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ นับตั้งแต่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จังหวัดระนองซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่ด้วยความฝันที่อยากทำงานในภาคใต้ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้บ้านคุณยายและคุณแม่ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี 2547 ปัจจุบันอาจารย์สิริพร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขา Indo-pacific Studies, School of International Studies มหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ประเทศอินเดีย คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาภายในปีนี้

ด้วยความเชื่อที่ว่า ความรู้จะเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้และการค้นหาความรู้ เนื่องจากความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวินาที เมื่อใดที่เราหยุดนิ่ง จะทำให้เรากลายเป็นคนไม่รู้และเป็นคนโง่ไปทันที จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม อาจารย์สิริพร ไม่ต้องการหยุดนิ่ง พร้อมที่จะเรียนรู้และเท่าทันตลอดเวลา ทั้งยังเชื่อมั่นว่า การเป็นอาจารย์ไม่ใช่ผู้สั่งสอน แต่เป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้และทำเป็น อีกทั้งเป็นผู้ทำหรือลงมือทำ ให้ผู้อื่นหรือนักศึกษาได้เห็นและเรียนรู้ไปด้วยพร้อมๆกัน

ดังนั้น แนวทางการทำงานด้านการเรียนการสอนของอาจารย์สิริพร จึงมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับนักศึกษา และการใช้ตัวตนเป็นผู้แสดงบทบาทเสมือน “การแสดง” หรือ “ศิลปิน” ที่ต้องการสื่อความหมายผ่านงานศิลปะ และให้ผู้ชม ในที่นี้คือ “นักศึกษา” ได้เข้ามาร่วมชม ศึกษาและแสดง ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอนจึงไม่ใช่มุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้ฟังหรือถูกกระทำอย่างเดียว แต่นักศึกษาต้องเป็นผู้ร่วมกระทำหรือแสดงร่วมกับเราด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการ “เรียนรู้” ร่วมกันทั้งในและนอกชั้นเรียน

 

นอกจากด้านการสอนแล้ว อาจารย์สิริพร ยังได้ทำงานวิจัยนับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจนถึงปัจจุบัน มีผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นต้น จำนวน 21 เรื่อง มีบทความทางวิชาการเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในประเทศ จำนวน 26 เรื่อง และนานาชาติ จำนวน 3 เรื่อง คือ Burmese Migrant Workers and Politics of Place-Making in Thailand เผยแพร่ทาง Sociologia Indica เรื่อง Burmese Migrant Workers and Identity Formation in Ranong Province, Thailand เผยแพร่ทาง International Journal of Multidisciplinary Education Research และเรื่อง Myanmarese Migrant Workers and Karaoke: Politics of Place-Making in Thailand เผยแพร่ทาง International Journal of Humanities and Social Science Invention รวมทั้งบทความจำนวน 9 เรื่อง ที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ด้วยธรรมชาติของ “ความเป็นนักมานุษยวิทยา” อาจารย์สิริพร ยังคงต้องการศึกษาและหาความรู้ใหม่ ๆ จากผู้คนและกลุ่มคนต่าง ๆ โดยเฉพาะคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย ที่ต้องการพื้นที่ยืนแล้วบอกคนอื่น ๆ ได้ว่า “ฉันมีตัวตน” แม้ว่าจะเป็นเพียงผู้เข้าไปศึกษา แต่ก็พยายามทำหน้าที่ในฐานะ “คนถ่ายทอด” และ “คนสื่อสาร” ให้คนภายนอกได้รับรู้และเรียนรู้คนเหล่านั้น เพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นได้มีที่ยืนและมีตัวตนที่อยู่ในสายตาของผู้คนในสังคม โดยมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการจำนวน 2 เรื่อง คือ แรงงานข้ามชาติพม่ากับคนไทยท้องถิ่น : บทศึกษาการสร้างพื้นที่ทางศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกันในวัดไทย จังหวัดระนอง และกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มซาไกและเซมัยหรือมานิในภาคใต้ : จังหวัดพัทลุง สตูลและตรัง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน)

 

อาจารย์สิริพร ได้เล่าถึงเป้าหมายในอนาคตว่า ในความเป็นอาจารย์ไม่มีอะไรสำคัญ เท่าเราได้เห็น “นักศึกษา” ประสบความสำเร็จ สามารถฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิต และอยู่ในสังคมได้ นั่นแหละคือ “ความภาคภูมิใจ” ของผู้ที่เป็น “ครู” ไม่ใช่เพียงแค่ “ผู้สอน” เท่านั้น

 

ท้ายสุดอาจไม่ต้องการอะไรมาก เพียงแต่มีความสุขในการทำงาน ไม่สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น ไม่ให้ผู้อื่นเห็นความทุกข์ของเรา สิ่งสำคัญ “ยิ้ม” สู้กับทุกเรื่องที่เข้ามา และอย่าปฏิเสธทุกเรื่อง เพราะนั่นหมายถึง “คุณได้ปฏิเสธการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้คุณได้ฉลาดและเท่าทันการอยู่ในสังคมได้” อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ กล่าวก่อนปิดการสนทนาด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขกับคุณค่าของความเป็นครูที่วลัยลักษณ์

 

 

 

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง