Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ตรีรัตนภรณ์ : นักศึกษาเป็นแรงจูงใจสำคัญในการพัฒนาการสอน

01/09/2558

8741

อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ตรีรัตนภรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาการสอนผ่านการทำวิจัยโดยมีนักศึกษาเป็นแรงจูงใจสำคัญ เพราะเห็นแววตาแห่งความเข้าใจและความตั้งใจของนักศึกษาขณะที่นั่งฟังบรรยาย

 

 

อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำเร็จการศึกษา วศบ.(ไฟฟ้า) เกียรตินิยมอันดับ 2

 

 

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่รวมถึงอาจารย์ที่สอน อยากให้ อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ เป็นอาจารย์ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพราะเป็นเด็กที่เรียนดี มีความตั้งใจ และมีความประพฤติดี ที่สำคัญได้รับเกียรตินิยม แต่ด้วยความที่อยากทำงานในสายงานวิศวะที่เรียนมา หลังจากสำเร็จการศึกษาจึงได้ทำงานเป็นวิศวกร ที่ บมจ.ทีทีแอนด์ที ทำให้มีโอกาสไปอบรมต่างประเทศหลายครั้ง เช่น บริษัท France Telecom ประเทศฝรั่งเศส และ บริษัท Telia ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็น บริษัททางด้านโทรคมนาคมแห่งชาติทั้งคู่

 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงบันดาลใจจากคุณพ่อคุณแม่ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ ทำให้ อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ซึมซับและถูกหล่อหลอมความเป็นครูอยู่ในสายเลือด ดังนั้น ระหว่างที่ทำงานเป็นวิศวกร ก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ควบคู่กันไปด้วย และเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทได้สมัครเพื่อขอรับทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในโครงการทุนพัฒนาอาจารย์ (สาขาขาดแคลน) ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษาหลักสูตรร่วมสถาบันในต่างประเทศ โดยศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเวลา 2 ปี ศึกษาและทำวิจัย ต่างประเทศ 1 ปี ที่ University of Alberta ประเทศแคนาดา

หลังจากสำเร็จการศึกษา อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ได้มาเป็นอาจารย์สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยถือคติและแนวทางการสั่งสอนของคุณแม่ที่ว่า จะสอนให้คนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสอนให้เป็นคนดีด้วย นั่นคือต้องสอนและสอดแทรกคุณธรรมไปพร้อมๆกัน สังคมจึงจะอยู่ได้ ดังนั้น นักศึกษาจะได้ยินอาจารย์พูดเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในชั้นเรียนบ่อยๆ นอกจากนี้ ประสบการณ์จากการที่ได้ทำงานภาคเอกชนมาก่อน ทำให้สามารถนำมาปรับสอนนักศึกษาให้มีความเข้าใจและมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นนอกจากการสอนภาคทฤษฎีเพียงอย่างเดียว

 

 

แรงจูงใจที่สำคัญมากที่สุดในฐานะอาจารย์ คือ นักศึกษา ทุกครั้งที่ได้เห็นแววตาของนักศึกษา ที่มองมาด้วยความเข้าในสิ่งที่สอนและความตั้งใจเรียน รวมทั้งผลการประเมินอาจารย์ของนักศึกษาหลังจากสอนรายวิชานั้นๆ จบ ทำให้ อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ รู้สึกดีใจและภูมิใจทุกครั้งที่ได้อ่านความคิดเห็นจากการประเมินของนักศึกษาให้ทราบว่า นักศึกษาชื่นชอบในวิธีการสอนของตน

 

 

อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ถือคติต้องรักในงานที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาใด ต้องสอนให้ดี ดังนั้น ทำให้ต้องใช้เวลาเตรียมการสอนอย่างมากโดยเฉพาะการสอนในภาคการศึกษาแรกเพราะจะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในวิชาที่ต้องสอน และวางแผนการสอนเพื่อให้การสอนออกมาดี

ความชอบ ณ ขณะนี้ของอาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ เป็นเรื่องของการออกแบบการวิจัย (Experimental Design) เพราะสนุกและท้าทายดี ในเรื่องของการออกแบบให้ผู้ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ให้ง่ายและสะดวกขึ้น (Usability) ก็เป็นดุษฎีนิพนธ์ที่เคยทำมาก่อนและชอบเช่นกัน GIS (Geographic Information System) และ ITSM (Information Technology Service Management) เป็นเรื่องที่กำลังศึกษาให้เชี่ยวชาญขึ้น

 

 

ด้านการทำวิจัย อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ สนใจทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแวดวงของการเรียนการสอน โดยนำเนื้อหาวิชาที่สอนมาทำเป็นโจทย์งานวิจัย เช่น การนำสื่อประสมเชิงโต้ตอบมาเป็นสื่อเสริมในการเรียนการสอนผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค การใช้เกม คำถาม และการเสริมแรงเพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาในวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ รวมทั้งที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ เช่น การนำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการช่วยเลือกหอพัก, Design of the Usability Measurement Framework for Mobile Application, Using Social Networks as An Education Channel for Undergraduate Students : A Case Study of Walailak University เป็นต้น ปัจจุบัน อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ มีความสนใจเรื่อง การออกแบบการวิจัย (Experimental Design) GIS (Geographic Information System) และ ITSM (Information Technology Service Management) รวมทั้งเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการทำวิจัย การออกแบบการวิจัย การเขียนรายงานการวิจัย และเทคนิคการสืบค้น เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะขอตำแหน่งทางวิชาการในโอกาสต่อไป

ในตอนท้าย อาจารย์ ดร.ฐะปะนีย์ ตรีรัตนภรณ์ เล่าว่า ในฐานะของครู เมื่อเข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ได้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาในปีแรกเลย ยังจำวันแรกที่เข้าไปต้อนรับนักศึกษาใหม่ได้ดี นักศึกษายังเป็นเด็กที่เพิ่งจบมัธยมศึกษา มีความสดใส น่ารัก ผ่านไป 4 ปี นักศึกษาสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต มีงานทำ จึงรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของบัณฑิต

 

 

 

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง