Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการงานวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 18/02/2563

3724



เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การจัดการป่าพรุควนเคร็ง เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศึกษาทดลองปลูกป่าต้นจากเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พระราชทานต้นจากแก่ผู้แทนเกษตรกร และพระราชทานพันธุ์สัตว์น้ำแก่ผู้แทนส่วนราชการและผู้แทนเกษตรกร โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเกษตรกร ถวายรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ



โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรและให้ความสนพระทัยนิทรรศการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำวิจัยเพื่อการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ เช่น การส่งเสริมการแปรรูปสำหรับเป็นเครื่องปรุงในครัวเรือน น้ำยำ, น้ำผึ้งจาก, น้ำส้มจาก และน้ำตาลจาก ที่มีค่าความหวานเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากจาก เช่น เครื่องจักสาน และภาชนะ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม และนักวิจัยร่วมถวายรายงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชีพไร่จาก จำนวน 6 โครงการวิจัย โดยใช้กระบวนการของงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มาตั้งแต่ปี 2557 มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาชีพไร่จาก ทั้งในส่วนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ การวิเคราะห์คุณค่าของน้ำตาลจาก น้ำส้มจาก เพื่อพัฒนามาตรฐานสินค้า การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม การวิจัยเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกร ฯลฯ ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการที่สำคัญคือการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ไร่จากที่ได้รับการส่งเสริมการฟื้นฟูและปลูกเพิ่มในพื้นที่นากุ้งร้าง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี และคณะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ และคณะ, รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสา แซ่หลี ได้ร่วมนำเสนอนิทรรศการ



ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอาชีพการทำนาข้าว จำนวน 2 โครงการ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวในการยกระดับโรงสีสู่มาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออก และพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ มี รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน และคณะ ร่วมจัดนิทรรศการด้วย



ข่าวและภาพโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร