
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.วลัยลักษณ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธฺ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฯ ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำผลิตภัณฑ์ COCORUM เข้าร่วมกิจกรรม Samui Plus Model เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว บริเวณริมชายหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนบุคลากรที่ดำเนินการในตำบลตลิ่งงามเข้าร่วมงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย และทีมผู้สอนหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ สำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับอำเภอเกาะสมุย พัฒนาผลิตภัณฑ์ COCORUM เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ สูตรพิเศษเฉพาะที่ใช้น้ำมะพร้าวจากเกาะสมุยและเกาะแตนเป็นวัถตุดิบหลักถึง 80% มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยอาศัยการต่อยอดวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่น และเมื่อเร็วๆนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าร่วมกิจกรรม Samui Plus Model เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่งดงาม ชายหาดยาวทิวมะพร้าวเรียงรายของเกาะแตนเป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิญญาณแห่งเกาะสมุย (the Spirit of Samui) เนื่องจากเกาะแตนเปรียบเสมือนพื้นที่สีเขียวของเกาะสมุย ที่ผู้คนมีความผูกพันกับวิถีแห่งมะพร้าวทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ ดังเช่นการดื่ม CocoRum ที่สามารถดื่มได้ทุกวัน หรือในโอกาสพิเศษ
CocoRum เหล้ามะพร้าวสูตรพิเศษเฉพาะที่ใช้น้ำมะพร้าวจากเกาะสมุยและเกาะแตนเป็นวัถตุดิบหลักถึง 80% น้ำมะพร้าวปกติที่ไม่ใช่มะพร้าวน้ำหอมที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ใด ๆ มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สื่อถึงจิตวิญญาณแห่งเกาะสมุย อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าว วิถีแห่งมะพร้าวเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนทุกส่วน โดยเนื้อมะพร้าวสามารถนำไปคั้นกะทิสำหรับทำอาหารและขนมต่าง ๆ กากมะพร้าวยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตเป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง และเปลือกมะพร้าวสามารถเผาและทำเป็นชาโคลสำหรับทำกาละแมและขนมเปียกปูน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
“ผลิตภัณฑ์ Cocorum อาศัยอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเกาะแตนและเกาะใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ขอขอบคุณนายอำเภอเกาะสมุย นายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสมุย ตลอดจนทีมงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทุกคน ที่ร่วมขับเคลื่อนและผลักดันไอเดียผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว