Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

อัพเดท : 17/08/2564

1173

วันนี้ (17 ส.ค.2564) เวลา 08.15 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผ่านการบันทึกวีดีโอออนไลน์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและ สถาบันการศึกษา/ หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจำนวน 86 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ วิจัยและพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคมและให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามบทบาทภารกิจของแต่ละฝ่าย ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร

          ทั้งนี้รายละเอียดของความร่วมมือในบทบาทของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” จะดำเนินการดังนี้ 1) บูรณาการและประสานความร่วมมือกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กร ในการกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ และการวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กร ข้างต้นในด้านต่าง ๆ เช่น องค์ความรู้ในรูปแบบสหวิทยาการ งบประมาณตามความจำเป็น เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคม 3) เป็นสถานที่สาหรับการศึกษาดูงาน และการฝึกภาคปฏิบัติ สำหรับนิสิต/นักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง กับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และบัณฑิตศึกษา 4) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ และ5) ประสานความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่พิจารณาว่าจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันการศึกษาจะได้ดำเนินการดังนี้ 1) บูรณาการและประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในการพัฒนาเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) ศึกษา พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิชาการ วิจัย และสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างเท่าเทียมในสังคม 3) พัฒนาการเรียนการสอนของคณะในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพ และการคุ้มครองสิทธิคนพิการ ให้ครอบคลุมประเด็นด้านคนพิการ ความพิการหรืออื่นใดและส่งเสริมสภาพแวดล้อมสาธารณะ เทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือบริการอื่น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 4) เป็นเจ้าภาพร่วมดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านคนพิการและ 5) ร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่พิจารณาว่าจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยบันทึกความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีผลบังคับใช้ ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ลงนาม