Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้น้ำมันปาล์มเกรดพรีเมี่ยมโดยใช้คลื่นไมโครเวฟฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร

อัพเดท : 08/12/2564

653

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้น้ำมันปาล์มเกรดพรีเมี่ยมโดยใช้คลื่นไมโครเวฟฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงอรุณปาล์มออยล์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตน้ำมันเกรดพรีเมี่ยม โดยใช้เทคโนโลยีการให้ความร้อนด้วยคลื่นไมโครเวฟฯ ที่จ.พังงา ร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการ

เมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยคลื่นพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร และศูนย์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุเชิงฟังก์ชันและนาโนเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วย นายไพโรจน์  ภู่ต้อง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงอรุณปาล์มออยล์  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. ร่วมกันแถลงความร่วมมือโครงการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้การผลิตน้ำมันเกรดพรีเมี่ยมโดยใช้เทคโนโลยีการให้ความร้อนด้วยคลื่นไมโครเวฟและเครื่องวัดค่าโดบี้แบบพกพา” ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงอรุณปาล์มออยล์  เพื่อร่วมกันถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการ

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้น้ำมันปาล์มเกรดพรีเมี่ยมโดยใช้คลื่นไมโครเวฟฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร

รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ กล่าวว่า  สืบเนื่องจากห้องปฏิบัติการวิจัยคลื่นพลาสมาและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และห้างหุ้นส่วนจำกัดแสงอรุณปาล์มออย ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากการเตาเผาด้วยฟืน เปลี่ยนเป็นการกระตุ้นด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งผลการวิจัยสามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิต น้ำมันปาล์มดิบจากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอางได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันปาล์มดิบมากกว่า 10 เท่า  และยังพบว่าในน้ำมันปาล์มที่สกัดได้มีวิตามิน A และวิตามิน E สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นอาหารเสริมสุขภาพและเครื่องสำอางได้ด้วย ซึ่งนอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วยังเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการปาล์มในราคาที่สูงขึ้น

“การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตน้ำมันเกรดพรีเมี่ยมฯ ครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคใต้และขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศในอนาคต นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทยสามารถนำใช้งานได้จริง ที่สำคัญศูนย์ดังกล่าวยังสามารถสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ การฝึกสหกิจศึกษาของนักศึกษา และการขยายผลเพื่อที่จะทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ กล่าว

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้น้ำมันปาล์มเกรดพรีเมี่ยมโดยใช้คลื่นไมโครเวฟฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร

นายไพโรจน์  ภู่ต้อง กล่าวว่า  เทคโนโลยีที่ทีมนักวิจัยจากม.วลัยลักษณ์ช่วยสร้างขึ้น 2 ส่วนประกอบด้วย การนำเทคโนโลยีไมโครเวฟไปใช้ในโรงงานบีบน้ำมันปาล์มชุมชนแทนการใช้ลมร้อนจากไม้ฟืน ช่วยลดเวลา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้น้ำมันปาล์มที่มีมูลค่าเพิ่ม มีวิตามิน A และ  E ทำให้เราสามารถนำไปต่อยอดไปเป็นเวชสำอางได้  ส่วนที่ 2 คือ เครื่องวัดค่าโดบี้แบบพกพา ซึ่งทำให้เราสามารถควบคุมค่าเบต้าแคโรทีนได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ผู้ประกอบการ หรือชุมชน หรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีดังกล่าวที่ศูนย์เรียนรู้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง  กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ เป็นตัวกลางเชื่อมโยง องค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีกลไกสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เช่น การให้องค์ความรู้สร้างแรงบันดาลใจกับนักวิจัยที่ตอบโจทย์การตลาด การต่อยอดการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ในส่วนภาคอุตสาหกรรมได้สำรวจความต้องการของภาคเอกชน นำโจทย์ปัญหาทางด้านธุรกิจมาจับคู่ความเชี่ยวชาญกับอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน การจัดหางบประมาณมาสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาลัยกับภาคเอกชน การอบรมผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่  ทั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยออกสู่ภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าด้านเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมให้เกิดขึ้นให้ประเทศชาติ

 

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร