Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

อัพเดท : 14/02/2565

2302

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และศูนย์กิจการนานาชาติได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับโรงพยาบาลสิชล อ. สิชล จ. นครศรีธรรมราช โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เป็นประธานฝ่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเป็นผู้ลงนาม MOU และ นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล เป็นประธานและผู้ลงนามฝ่ายโรงพยาบาลสิชล นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายแพทย์เอกรัฐ จันทร์วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชลด้านบริการปฐมภูมิ นางสาวนฤมล กาฬคลอด นักจัดการงานทั่วไปโรงพยาบาลสิชล  รองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาริท  เจาะจิตต์ คณบดีสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ชูชาติ  พันธ์สวัสดิ์ รักษาการแทนรองคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประภาพร  จันทร์เอียด หัวหน้าสาขาวิชา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ลั่นหล้า  อุดมเวช และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอื้อมพร  หมวดเมือง อาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. เกียรติกำจร  กุศลอาจารย์ อาจารย์สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุมดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ ดร. รัชศักดิ์  บุญฮก อาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภัทร์นรินทร์ ศุภกรณ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ และเจ้าหน้าที่บุคลากรของศูนย์กิจการนานาชาติ เข้าร่วมในพิธี

สำหรับการลงนาม MOU นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการผลิตแพทย์ การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามนโยบายของรัฐด้านการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างครบวงจรและมีคุณภาพมาตรฐาน โดยจะร่วมกันจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ การรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การจัดอาจารย์พี่เลี้ยงและบุคลากรช่วยสอนและอาจมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่มีความขาดแคลนหรือมีความเชี่ยวชาญ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยกำหนดกรอบความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี และมีขอบข่ายความร่วมมือ มีดังนี้

1. ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการด้านการผลิตบัณฑิต การรับนักศึกษาฝึกงาน และนักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาชาวต่างประเทศ

2. ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการด้านการพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์และสุขภาพ การค้นคว้าวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

3. ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินการด้านการอบรมความรู้ การจัดการประชุมและสัมมนาทางวิชาการ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและส่วนรวม

4. ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน การใช้ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสิชล ได้รับนักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนรุ่นแรกที่ส่งไปในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเข้าฝึกชั้นคลินิก ในปี 2558 เป็นนักศึกษาจาก Ohio State University สหรัฐอเมริกา โดยการประสานงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. ธีระพันธ์  สงนุ้ย อาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และส่วนวิเทศสัมพันธ์ ในขระนั้น จากนั้นการแลกเปลี่ยนได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องด้วยดีตลอดมา และได้ขยายไปยังนักศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น University of Angers, University of Western Brittany, ประเทศฝรั่งเศส และ University of Vienna, ประเทศออสเตรีย

สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั้น ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ด้าน โดยมีปณิธานในการพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ภายใต้สโลแกน มหาวิทยาลัยในยุคของการเปลี่ยนแปลงหรือ The Era of Change  มีการปฏิรูปการเรียนการสอนโดยการนำระบบ UKPSF-The United Kingdom Professional Standards Framework ของสหราชอาณาจักรที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาใช้ในการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและถูกหลักวิธี สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้อย่างสร้างสรรค์ ปัจจุบันคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยผ่านการอบรบ UKPSF มากถึง 99.30 % หรือ 466 คน สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และจากการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีเกรดเฉลี่ยภาพรวมในปี 2564 ที่ 3.20 และในปี 2565 ที่ 3.27 จากที่มหาวิทยาลัยเคยรับนักศึกษาใหม่ หรือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้ไม่มาก ปรากฏว่า ในปี 2564 มหาวิทยาลัยสามารถรับนักศึกษาได้มากถึง 3,104 คน และสูงที่สุดในประเทศไทย และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนการรับนักศึกษาใหม่รอบแรกในปี 2564 พบว่ามีนักศึกษาสมัครเข้ามา 1,700 คน แต่ในปี 2565 มหาวิทยาลัย มีนักศึกษาสมัครเข้ามาในรอบแรกมากถึง 2,700 คน นักศึกษาแพทยศาสตร์ที่เข้ามาเรียนมีเกรดเฉลี่ยที่ 3.8 เภสัชศาสตร์ 3.7-3.8 เทคนิคการแพทย์ 3.69 พยาบาลศาสตร์ 3.59 เป็นต้น และปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดกลุ่มจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 1 หรือกลุ่มวิจัยระดับแนวหน้าของโลก หรือ Global and Frontier Research เป็น 1 ใน 16 มหาวิทยาลัยของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่ม 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรม กลุ่ม 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น กลุ่ม 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา กลุ่ม 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จด้านอื่นๆ เช่น การได้รับการจัดอันดับระดับโลกจาก THE World University Rankings และ QS Asia Rankings ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไม่เคยหยุดการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ หรือการพัฒนาทางกายภาพที่มีทั้งสวน อุทยาน และภูมิทัศน์ภูมิสถาปัตย์ที่สวยงาม   การพัฒนาศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นงานที่หนักและท้าทาย  รัฐบาลให้งบประมาณมา 5,600 ล้านบาท มหาวิทยาลัยได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเดิม และสานต่อโครงการจัดตั้งศูนย์การแพทย์จนปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการแบบ 24 ชั่วโมงได้สำเร็จ และให้บริการระยะแรก 419 เตียงในปี 2565 และภายในปี 2575 จะสามารถเปิดให้บริการสูงสุด 750 เตียง จะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพและนวัตกรรมที่ให้บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิ การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และการวิจัยชั้นนำของภาคใต้ตอนบน  

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโรงพยาบาลร่วมฝึกในชั้นคลินิกของนักศึกษาแพทย์  2  แห่ง คือ รพ. ตรัง จังหวัดตรัง และ รพ.วชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต   สำนักวิชาแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาแพทยศาสตร์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ และ วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย  ซึ่งเป็นการผลิตแพทย์ตามโครงการการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยรับนักเรียนในพื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดปีละ 48 คน ตลอดระยะเวลา 13 ปี สำนักวิชาแพทยศาสตร์ได้ผลิตบัณทิตแพทย์ทั้งหมด 7 รุ่น  ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี พ.ศ. 2569 โดยมีแผนว่าจะสามารถรับนักศึกษารุ่นแรกได้ประมาณ 100 คน ซึ่งเมื่อรวมกับนักศึกษาที่ศึกษาชั้นคลินิกที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาทั้ง 2 แห่ง ในปีการศึกษา 2569 หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตจะสามารถรับนักศึกษาได้ถึง 148 คน

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลสิชลในการรับนักศึกษาแพทย์ชาวต่างชาติที่มี MOU กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เช่น จากประเทศอเมริกา ฝรั่งเศส และออสเตรีย เข้าฝึกปฏิบัติในชั้นคลินิก ซึ่งเป็นชั้นปีสุดท้าย ณ โรงพยาบาลสิชล รวมกันถึง 17 คน และเมื่อฝึกชั้นคลินิกกลับไปแล้วก็ได้ไปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ และความประทับใจที่มีต่อโรงพยาบาลสิชลกลับมา และยังให้รุ่นน้องสมัครเข้ามาฝึกประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงพยาบาลสิชล ในวันนี้ จึงเป็นการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันในความร่วมทางด้านวิชาการ และการสนับสนุนการจัดการศึกษาทางแพทยศาสตร์ ชั้นคลินิก และด้านวิชาการอื่นๆ ที่ระบุไว้ในข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โรงพยาบาลสิชล ต่อไป – ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์ อารักษ์ วงศ์วรชาติ   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ได้กล่าวขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการตอบรับความร่วมมือนี้ และชื่นชมอธิการบดีที่สามารถนำพาทีมผู้บริหารชุดนี้บริหารงานจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยใจมุ่งมั่น เพราะหากการบริหารขาดการเอาใจใส่ที่มากพอแล้วความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยดังเช่นทุกวันนี้อาจจะยังไม่บรรลุเป้าหมาย การพัฒนามหาวิทยาลัยในภูมิภาคให้มีคุณภาพได้นั้น จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ช่วยลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการไปเรียนในเมืองใหญ่ แถมนักศึกษายังได้คุณภาพการเรียนการสอนที่เท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในเมืองหลวง นับว่าเป็นวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีที่จับต้องได้และควรค่าแก่การชื่นชม   การพัฒนาคุณภาพ ให้มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ในการผลิตบัณฑิตนั้นให้วัดจากการที่บัณฑิตสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วมีงานทำ  การสร้างประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การเพิ่มขึ้นของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผลงานที่ท่านอธิการบดีได้พัฒนาสถาบันแห่งนี้อย่างมีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับนั่นเอง ประการสุดท้ายนั้น การพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ในภูมิภาคไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าปล่อยให้ปรับเปลี่ยนไปตามธรรมชาติแล้ว ย่อมล่าช้าและอาจจะไม่สามารถเป็นหนึ่งในการเป็นศูนย์การแพทย์แห่งภาคใต้ตอนบนได้ ดังนั้นการบริหารอย่างมีวิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีจะทำให้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

ในส่วนของโรงพยาบาลสิชลนั้น ได้เริ่มต้นมาจากโรงพยาบาลขนาดเล็กระดับปฐมภูมิ  และต่อมาได้พัฒนายกระดับมาเป็นทุติยภูมิ จนปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ใช้เวลาในการพัฒนามาอย่างยาวนานถึง 30 ปี การพัฒนานั้นต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติ ยิ่งในยุคโลกาภิวัฒก์ด้วยแล้วยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะทุกอย่างย่อมเป็นพลวัฒก์ จากโรงพยาบาลขนาดเล็กที่เริ่มต้นจาก 60 เตียง จนเป็น 300 เตียง และจะขยายให้ได้ 450 เตียงนั้น ต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก การมีนักศึกษาแพทย์จากทั่วโลกกว่า 20 ประเทศมาแลกเปลี่ยนและฝึกประสบการณ์ที่โรงพยาบาลสิชลนั้น เริ่มต้นมาจากการที่โรงพยาบาลได้ส่งนายแพทย์ไปร่วมประชุมสัมมนาในเวทีโลก เพื่อสร้างเครือข่าย ประชาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนประสบการทางด้านระบบสุขภาพให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งกว่าจะเป็นที่ยอมรับใช้เวลาหลายปีและในขณะนั้นทรัพยากรโรงพยาบาลของรัฐมีอย่างจำกัด  สิ่งที่โรงพยาบาลสิชล ได้กำหนดให้นักศึกษาแพทย์นานาชาติได้เรียนรู้ มี 3 ด้าน คือ 1) การเรียนรู้เกี่ยวกับวิถึชีวิต วัฒนธรรม ภาษาและสิ่งแวดล้อม 2) แนวคิดการจัดการศึกษาทางการแพทย์ และ 3) การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่ประเทศอื่นๆ ไม่เคยพบเจอ ส่วนการสนับสนุนนักศึกษานั้น จะมีการจัดสรรที่พักให้ในราคาประหยัด และการดูแลช่วยเหลือให้ความรู้ทางการแพทย์และการประเมินผล-นายแพทย์ อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล กล่าว

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ลงนามความร่วมมือ MOU กับ โรงพยาบาลสิชล เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

 

ข่าวโดย : จิราพร กาฬสุวรรณ ศูนย์กิจการนานาชาติ
ภาพโดย : ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร