
ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับเทศบาลเมืองทาวน์สวิลล์ ประเทศออสเตรเลียและภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาวิชาการภายใต้แนวคิด “ความเจริญของเมืองและท้องถิ่นอย่าง Smart ในอนาคต” ในรูปแบบไฮบริด มิตติ้ง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม
ศูนย์ความเป็นเลิศการบริหารจัดการท้องถิ่นและเมือง ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) จัดสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “ความเจริญของเมืองและท้องถิ่นอย่าง Smart ในอนาคตเป็นอย่างไร” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 30 โดยพิธีเปิด ณ ห้องเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา รองศาสตราจารย์ ดร.สัณหวัช ไชยวงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการบริหารจัดการท้องถิ่นและเมือง กล่าวรายงาน โดยมีนายอยุทธ์ เชาวลิต รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ,ดร.วงศ์วชิร โอวรารินทร์ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และนายเกรียงศักดิ์ ผดุงกาญจน์ นายก อบต.ไทยบุรี พร้อมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธาน คณะกรรมการ อสม.อ.ท่าศาลา และจ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ว่า หน่วยงานด้านการบริหารในระดับประเทศทั่วโลก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่เติบโตขึ้นมากจากการมี ม.วลัยลักษณ์และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ซึ่งในอนาคต อ.ท่าศาลาจะมีการขยายตัวของเมืองและมีจำนวนประชากรเพิ่มมากยิ่งขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวติที่ดี และเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดในทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขาภิบาล สุขภาพ การศึกษา การสร้างอาชีพ เศรษฐกิจและรายได้ ฯลฯ
“และด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการบริหารมหาวิทยาลัย ของศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในฐานะที่ ม.วลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งของชาวท่าศาลา จึงมีนโยบายให้จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศการบริหารจัดการท้องถิ่นและเมือง”ขึ้น เพื่อร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในพื้นที่ ในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งการบริการวิชาการด้านองค์ความรู้ ซึ่งม.วลัยลักษณ์ มีองค์ความรู้มากมายที่ได้จากการค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมและสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับหน่วยงานของท่าน”รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าว
สำหรับการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติ ประกอบด้วย Cr Jenny Hill นายกเทศมนตรีเมืองทาวน์สวิลล์ ประเทศออสเตรเลีย และศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Smart trend local and city” นางสาวเบญจวรรณ ไวยวุฒินันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ,นายพีรพงษ์ สุนทรเดชะ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กลุ่มส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศาสตราจารย์ ดร.สุรสิทธิ์ วชิรขจร คณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ความเจริญของเมืองและท้องถิ่นอย่าง Smart ในอนาคตเป็นอย่างไร”
นายอยุทธ์ เชาวลิต รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ว่า เป็นการสัมมนาที่ดีมาก ได้ความรู้ที่ทันสมัยเพื่อนำมาปรับใช้กับนโยบายในการพัฒนาเมืองให้เป็น “Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” ของ อบจ. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้ง มวล.และอบจ.ได้ร่วมมือกัน เพื่อทำให้ อ.ท่าศาลาหรือท้องถิ่นของจ .นครศรีฯ มีความเจริญก้าวหน้า และในฐานะที่ตนเป็นชาว จ.นครศรีฯ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้กลับมา มวล.ในครั้งนี้ นับตั้งแต่รับรู้เรื่องการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2533 จนวันนี้ มวล.เติบโตและพัฒนาไปอย่างมาก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภาคถูมิใจของชาวนคร มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศและทั่วโลก "ขอแสดงความยินดีกับ มวล.ในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และมีควมสำคัญด้านการศึกษา ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ขอขอบคุณอธิการบดี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนบุคคลากรทุกท่าน ทุกสิ่งที่ท่านทำนับเป็นคุณูปการต่อท้องถิ่นและชาวท่าศาลาและจ.นครศรีฯเป็นอย่างยิ่งและขอให้เป็นเช่นนี้ตลอดไป”
ด้าน ดร.วงศ์วชิร โอวรารินทร์ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ผู้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้มีการดำเนินงานในด้านความเป็น Smart City หลายส่วน ทั้งเรื่องระบบการศึกษา การจัดการขยะ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แต่จากการมาร่วมสัมมนาในวันนี้ทำให้ทราบว่า คำว่า “Smart City”ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่มีด้วยกันถึง 6 องค์ประกอบที่สำคัญ ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะเป็น Smart City ได้คือ “บุคลากร” หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์และการสร้างความตระหนัก ความมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการเป็น Smart City อย่างยั่งยืน
“ขอบคุณโอกาสในการได้เข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้ ที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการรรับฟัง-แลกเปลี่ยน โดยเฉพาะกับนายกเทศมนตรีเมืองทาวน์สวิลล์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ทำให้เห็นว่าเมืองที่เจริญแล้วมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไร และในฐานะที่ มวล.เป็นสถานศึกษาอันดับ 1 ของ จ.นครศรีฯและเป็นหลักในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ขอถือโอกาสนี้ แสดงความยินดีในโอกาสที่ มวล.ครบรอบ 30 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มวล.จะเป็นที่พึ่งของคนนคร เป็นผู้นำทางด้านการศึกษา ด้านความรู้ เพื่อให้เมืองนครศรีฯ ได้พัฒนาและเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป ในส่วนของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือ และพร้อมรับฟังคำแนะนำหรือข้อชี้แนะ เพื่อการพัฒนาจ.นครศรีฯโดยเฉพาะเทศบาลนครนครศรีฯด้วยกันต่อไป”
นายเกรียงศักดิ์ ผดุงกาญจน์ นายก อบต.ไทยบุรี กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ องค์ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการ จะได้นำไปถ่ายทอดให้แก่บุคลากร อบต.ไทยบุรีเพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อไป ขอบคุณมหาวิทยลัยสำหรับกิจกรรมดีๆเช่นนี้ในส่วนของอบต.ไทยบุรี จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับมหาวิทยาลัยในการทำงานเพื่อชาวบ้านและชุมชนต่อไป และในโอกาสแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 30 ขอแสดงความยินที่ มวล.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าก้าวต่อไปข้าหน้าและเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวท่าศาลา”