Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล. จับมือ มศว. ลงนาม MOU พัฒนาความร่วมมือการสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรร่วมกัน

อัพเดท : 05/04/2565

1184

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยส่วนสื่อสารองค์กร ต้อนรับคณะผู้บริหารและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารองค์กร พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มวล. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ รองศาสตราจารย์ พฤทธิ์  ศุภเศรษฐศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มศว. เมื่อวันจันทร์ที่  4  เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมช่อประดู่ ชั้น 4 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มวล. โดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดี มวล. และอาจารย์ ดร.ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มศว.ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา เจะเอาะ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี เจ้าหน้าที่ส่วนสื่อสารองค์กรและบุคลากรทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมในพิธี

            โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มวล. กล่าวต้อนรับผู้บริหารและบุคลากรจาก มศว. ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับและได้รับความเชื่อมั่นจากคณะ มศว.ในการเดินทางมาศึกษาดูงานและบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสื่อสารองค์กรในครั้งนี้ มวล.ให้ความสำคัญกับงานในด้านการสื่อสารเป็นอย่างมาก การสื่อสารของ มวล.ในอดีตเป็นการสื่อสารผ่านช่องทางสื่อหลักทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อมวลชน ปัจจุบันได้ปรับช่องทางสื่อสาร โดยเน้นโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยการสร้างช่องทางของมหาวิทยาลัยเองทั้งการสร้างคอนเทนต์ ภาพ วีดีโอ และกราฟิค จะเห็นว่ามวล.ในอดีตยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่หลังจากกระผมมาทำงานที่นี่ สิ่งแรกที่ทำ คือ การทำให้ มวล.เป็นที่รู้จัก มีเด็กมาเรียนมากขึ้น ซึ่งในอดีตนักศึกษา มวล.มีปัญหา Dropout เป็นจำนวนมากและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ด้วยระบบการศึกษาของประเทศไทย ที่สอนแบบท่องจำ รวมกับการเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่ 150-300 ที่นั่งของ มวล.ในอดีตส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา การบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาที่ มวล.ทำคือการปรับห้องเรียนให้มีขนาดเล็กลงเป็น 30 ที่นั่ง (Smart Classroom) เพื่อให้การดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอนอย่างมืออาชีพด้วยระบบ UKPSF เพื่อสอนให้นักศึกษารู้จัก คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และมีนโยบาย Set Zero Dropout การยกระดับคุณภาพการศึกษาหลายๆอย่างทำให้ปัจจุบัน มวล.มีนักศึกษาเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น

            ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว มวล.สามารถรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแผนเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จากการประกาศโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จำนวน 3,104 คน เป็นนักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมสูงสุด 3.20 และมาจากโรงเรียนมาตรฐานมากถึง 50% และในปีการศึกษา 2565 นี้ ผลการรับนักศึกษาในรอบ TCAS-1 มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนต่อที่ มวล. จำนวนมากถึง 2,588 คน ยังไม่รวมรอบอื่นๆ ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นับจากวันแรกที่กระผมมาบริหารงานที่นี่ และปัจจัยที่ทำให้ประชาชนและนักเรียนรับรู้ในการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จนประสบผลสำเร็จได้ขนาดนี้ คือ การสื่อสาร ที่ต้องสื่อไปให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ต้องสื่อสารความจริง ให้นักเรียนและผู้ปกครองเชื่อมั่นในคุณภาพของมหาวิทยาลัย การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในคุณภาพและความสำเร็จด้านต่างๆของมหาวิทยาลัยออกไปสู่สาธารณชนในทุกมิติ ทุกช่องทางทำให้ มวล.ได้รับความเชื่อมั่นและเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

          ด้านรองศาสตราจารย์ พฤทธิ์  ศุภเศรษฐศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มศว. ได้กล่าวขอบคุณอธิการบดี ผู้บริหารและบุคลากรสำหรับการต้อนรับอย่างดียิ่งในโอกาสนี้ และกล่าวถึงการดำเนินงานด้านการบริหารและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรในยุคปัจจุบันว่า การทำลายเส้นกั้นแบ่งของความเป็นปัจเจกสถาบันหรือมหาวิทยาลัยแล้วผูกมิตรหรือร่วมมือกันกับเพื่อนใหม่ เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกัน หน่วยงานหรือองค์กรนั้น จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการนั้นสูงขึ้น มวล.เป็นองค์กรหนึ่งที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในการบริหารงานด้านต่างๆ และถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ มวล.ให้เราชาว มศว.ได้เข้ามามีโอกาสเรียนรู้ในครั้งนี้

          รองศาสตราจารย์ พฤทธิ์  กล่าวอีกว่า มวล.และ มศว.มีความแตกต่างกันในหลายบริบท การได้พูดคุย ทำความร่วมมือ แลกเปลี่ยนไอเดีย วิธีคิด มุมมองระหว่างกัน หรือการได้เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการจากท่านอธิการบดี และรองอธิการบดี ในการดำเนินงานของ มวล. จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวตนเองคิดว่าการเป็นสถาบันใหม่ที่อายุน้อย สามารถดำเนินการด้วยวิธีใหม่ๆให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ไม่ยาก แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันหรือองค์กรที่มีอายุมากอยู่มานาน มีวัฒนธรรมเก่าและวิถีชีวิตที่ฝังรากลึก การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม อาจจะมีอุปสรรคและมีปัญหาที่แตกต่างกันไป การได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ร่วมกัน และในอนาคตคาดว่า มศว.และมวล.จะได้ร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งกับนิสิต นักศึกษา อาจารย์และผู้บริหารต่อไป

          สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มวล.และมศว.ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร รวมทั้งช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และเพื่อการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ในการพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญและเป็นประโยชน์ระหว่างกัน โดยบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 3 ปี

          นอกจากการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพและกลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์องค์กร” และการศึกษาดูงาน “การบริหารจัดการงานส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลยลักษณ์” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์  ไหมศรีกรด  รักษาการแทนรองอธิการบดี ร่วมกล่าวตัอนรับในการศึกษาดูงานส่วนสื่อสารองค์กรและพูดคุยถึงนโยบายการประชาสัมพันธ์และสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟารีดา  เจะเอาะ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี พูดคุยการบริหารและผลงานโดยภาพรวมของส่วนสื่อสารองค์กร และกิจกรรม Campus Tour เยี่ยมชมพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกด้วย

ประมวลภาพ