Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศพด.สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี พัฒนา “มุมการเรียน” ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ด้วยหลักสูตร High Scope

อัพเดท : 08/04/2565

372

          เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ อาคารเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ สำนักวิชาการจัดการ พร้อมคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ประชุมออกแบบพัฒนาแปลนมุมการเรียนรู้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ตามหลักสูตร High scope ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี นำโดย นางวารีรัตน์ คงประดับ หัวหน้าสำนักปลัด และคณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และวัดโคกเหล็ก

          โครงการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัย ปีที่ 2 (ECEEP)  เป็นโครงการต่อเนื่อง ภายใต้ ชุดโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2565 มุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถและปิดช่องว่างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบ “High Scope” เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ และพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย มีกลุ่มเป้าหมาย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 392 ศูนย์ 154 องค์การบริหารส่วนตำบล 27 อำเภอ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 4 “Quality Education” ส่งเสริมทำให้ได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals”ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกมหาวิทยาลัย

          ในการนี้ อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์ คำพรรณ์ อาจารย์สำนักวิชาการจัดการ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ร่วมกับผู้บริหาร คณะครู ศพด. องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี ระดมความคิดเห็นเรื่องการออกแบบพัฒนามุมการเรียนรู้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ตามหลัก High scope ในการจัดการเรียนการสอน และขั้นตอนและวิธีการจัดมุมการเรียนรู้ พร้อมนำเสนอสภาพปัญหา ความต้องการ และทรัพยากรที่มีสำหรับการจัดมุมการเรียนรู้ฯ ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ และกองการศึกษาฯ อบต.ไทยบุรี จะนำข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนมาสังเคราะห์ เพื่อพัฒนาแปลนการจัดมุมโดยเน้นอาคาร ศพด. สังกัด อบต.ไทยบุรี เป็นต้นแบบ (model) ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลองค์ความรู้การจัดการเรียนการสอนในเด็กปฐมวัย พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในขั้นตอนต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/?p=16121