
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต้อนรับ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในโอกาสเป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีนายสมพงษ์ มากมณี และนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครศรีธรรมราช และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมช่อประดู่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้บรรยายสรุปถึงการพัฒนาการความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพการเรียนการสอน การขับเคลื่อนงานวิจัย บริการวิชาการและการนำพามหาวิทยาลัยมุ่งสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก โดยการเปลี่ยนแปลงสำคัญและโดดเด่นเป็นความภาคภูมิในร่วมกันของชาวจ.นครศรีฯ เช่น มวล.มีอาจารย์ผู้สอนที่ได้รับประกาศนียบัตรเป็นอาจารย์ผู้สอนมืออาชีพ ตามกรอบมาตรฐานการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ The UK Professional Standards Framework (UKPSF) จำนวน 474 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อสอนให้นักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การปรับปรุงห้องเรียนแบบ Smart Classroom จำนวน 150 ห้อง พร้อมห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย การปรับปรุงสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลในทุกชนิดกีฬา การ Set Zero นักศึกษาตกออกด้วยระบบการดูแลนักศึกษาที่ดี ทั้งหมดนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองและนักศึกษา ทำให้มีผู้สนใจมาเรียนที่ มวล.มากขึ้นโดยเมื่อปี 2564 สามารถรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากแผนของ ทปอ. จำนวน 3,104 คน เป็นนักศึกษาที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมสูงสุด 3.20 และมาจากโรงเรียนมาตรฐานมากถึง 50% และในปีการศึกษา 2565 นี้ ผลการรับนักศึกษาเฉพาะในรอบ TCAS-1 มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนต่อที่ มวล.จำนวนมากถึง 2,718 คน นอกจากนี้ มวล.ยังประกาศเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ตามการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของกระทรวง อว.
นอกจากนี้ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงการก้าวสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลกของ ม.วลัยลักษณ์ โดยในปี 2564 ม.วลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลกเป็นปีแรกโดย Times Higher Education Impact Ranking ที่ระดับ 601-800 และได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรก โดยสถาบัน QS Asia University Rankings 2022 อันดับที่ 551-600 ของเอเชีย หรืออันดับที่ 19 ของประเทศไทย และล่าสุดเป็นขึ้นเป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับงานวิจัย โดย SCImago Institutions Rankings 2022 และผลงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) ของ ม.วลัยลักษณ์ ในเป้าหมาย SDG2 และ SDG14 ติดอันดับ 101-200 ของโลก ขยับขึ้น100 อันดับจากเดิม 201-300 และเป็นอันดับที่ 6 และ 5 ของประเทศไทย ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างความสำเร็จในการมุ่งพัฒนาม.วลัยลักษณ์ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลกและเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวบรรยายสรุปถึงการดำเนินการที่สำคัญในการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเด็นการพัฒนา 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.) การบริหารจัดการเกษตรและอุตสาหกรรมสมมาตรฐานครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดลอ้ม 2.) การพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานธรรมะ ธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรม 3.) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 4.) การพัฒนาคน ชุมชน สังคมให้น่าอยู่ และเข้มแข็งตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง 5.)การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย 6. การส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เป้าหมายการพัฒนา เพื่อ เพิ่มรายได้จากการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต และอุตสาหกรรมโดยควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็งตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสนา ประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในตอนหนึ่งว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพประจำจังหวัด เช่นเดียวกับที่ จังหวัดเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือจังหวัดขอนแก่นมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทสำคัญในการได้ตอบสนองต่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจน บ่มเพาะความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาทุกระดับ ทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา ปวช. ปวส. ด้วยกลไกของสตาร์ทอัพ เพื่อทำให้นักศึกษามีรายได้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาให้ผู้มีความสามารถได้เรียนฟรีและมีสถาบันการศึกษาคุณภาพรองรับ
จากนั้น อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ และผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมภาคส่วนต่าง ๆ เยี่ยมชมการดำเนินงานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กำไล สมรักษ์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และนำชมการดำเนินงานและการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์