Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าโครงการกระบี่โมเดล ปีที่ 2 นำทีมคณาจารย์ม.วลัยลักษณ์ลงพื้นที่ติดตามการใช้ประโยชน์งานวิจัย

อัพเดท : 22/07/2565

799

          ด้วยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลปีที่ 2 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นหัวหน้าโครงการ ที่มีเป้าหมายในการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 10,000 บาทต่อครัวเรือนอย่างยั่งยืน แบบไม่รอ ไม่ขอ ลงมือทำโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่ายส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัดกระบี่ โดยในปีที่ 2 นี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในชุดโครงการวิจัยการสร้างตัวแบบเชิงธุรกิจด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้เกษตรกร และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“…ต้องเรียนว่า ในการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลปีที่สองนี้ ผมในฐานะหัวหน้าชุดโครงการได้รวบรวมนักวิจัยชั้นนำระดับแนวหน้าของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และส่งเสริมเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดกระบี่...”

          ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ได้เดินทางเข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่อขอคำแนะนำในการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลปีที่สอง ร่วมกับ หน่วยงานราชการในจังหวัดกระบี่ เนื่องจากประเด็นที่สำคัญของการดำเนินการโครงการกระบี่โมเดลในปีที่ 2 นี้ คือการสร้างความสมดุลระหว่าง พลังอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่เป็นภูมิปัญญาองค์ความรู้ ทุนทางสังคม หรือทุนทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ต่างๆ กับพลังอำนาจแข็ง (Hard Power) ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ ส.ส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงกระบวนความคิด วิธีการทำงาน และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพา จากหน่วยงานภาครัฐและใช้ศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ธเนศ คอมเพ็ชร อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 1 และ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย กัลยาณปพน ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3 ได้ลงพื้นที่กระบี่โมเดลในจังหวัดกระบี่เพื่อร่วมติดตามการใช้ประโยชน์งานวิจัยกระบี่โมเดลปีที่ 1 ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยกระบี่โมเดลในปีที่ 2 ให้แก่โครงการ “การสร้างตัวแบบเชิงธุรกิจด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจ ยกระดับรายได้เกษตรกร และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกระบี่” ซึ่งเป็นโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานสำคัญ (Flagship) “การสร้างแผนธุรกิจเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากรองรับการเปลี่ยนแปลงและ วิกฤตด้านเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจน” โปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ประจำปี งบประมาณ 2565 และได้หารือพร้อมรับฟังคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ ซึ่งในการติดตามการใช้ประโยชน์ในโครงการกระบี่โมเดลปีที่ 1 มี รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ หัวหน้าชุดโครงการ และหัวหน้าโครงการผู้รับผิดชอบด้านการเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีญาภรณ์ แก้วทวี หัวหน้าโครงการผู้รับผิดชอบด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก

          การดำเนินการหลังจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการขับเคลื่อนโครงการกระบี่โมเดลปีที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการในจังหวัดกระบี่ โดยสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้ที่ www.facebook.com/krabimodel