
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ( TSEN ) ครั้งที่ 1/2565 เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทดสอบของสมาชิกเครือข่าย ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2565 โดยมีสมาชิกเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 300 คน
โอกาสนี้ในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานเปิดการจัดประชุม ดร.ณัฐพล วุฒิพันธ์ เลนานุการเครือข่ายศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวรายงาน ณ หอประชุมศรีธรรมราช ชั้น 3 อาคารปฏิบัติการทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ประกาศให้เป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ และมุ่งเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยเป้าหมายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือ "การผลิตบัณฑิต" จึงได้มีการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยนำระบบมาตรฐาน The United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF) ของสหราชอาณาจักร โดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการอบรม ตามกรอบมาตรฐาน UKPSF 100% และได้ผ่านการรับรอง UKPSF มากกว่า 99% ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย
นอกเหนือจากการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มองว่าห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกเลิกการเรียนการสอนห้องเรียนขนาดใหญ่ทั้งหมด และจัดให้นักศึกษาเรียนในห้องขนาดเล็ก เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงทุกคน พัฒนาห้องเรียนทั้งหมดให้เป็น Smart Classroom เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับปรุงตัวอาคารโดยทุ่มงบประมาณมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาได้รับสิ่งที่ดีมีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือที่ทันสมัยใช้ในการเรียน ซึ่งสอดคล้องกับการจัดเป็นเจ้าภาพจัดประชุม TSEN ที่จะช่วยกันยกระดับห้องปฏิบัติการให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.ณัฐพล วุฒิพันธ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดประชุม TSEN เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์ทดสอบของสมาชิกเครือข่ายและของประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร ตลอดจนบุคลากรสมาชิกเครือข่าย (TSEN) ทั้งในด้านการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการ ข้อมูลวิเคราะห์ทดสอบ ข้อมูลด้านความสามารถห้องปฏิบัติการ ความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ การบริหารการจัดการ การจัดซื้อครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การซ่อมบำรุง และการพัฒนาบุคลากร เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกทุกคนในเครือข่าย เพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในเครือข่าย
ภายในการจัดประชุมเครือข่ายครั้งนี้ ได้รับเกียรติการบรรยาย โดยบริษัท Bara Scientific Co., Ltd “Fullautomated platform for TDM analysis in serum samples ( Shimadzu On-Line Fully Automated Sample Preparation Module with LC-MS/MS )” โดยบริษัท HORIBA (THAILAND) LIMITED “Reman confocal microscopy for Micro Pollution Inspection development method”โดยบริษัท Absotec Co., Ltd “Using SEM/FIB-SEM in life science”
นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้เข้าร่วมจัดบูธเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 34 บริษัท 48 บูธ 98 คน ณ อาคารปฏิบัติการทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งในการจัดประชุมเครือข่ายครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทุกสถาบันได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานในการเพิ่มบริการของแต่ละสถาบัน รวมไปถึงมาตรฐานของห้องปฏิบัติและความปลอดภัยด้วย
ข่าวและภาพโดย น.ส.นุจิรา วัฒนสิทธิ์ และนายธนภัทร ซื่อภักดี นักศึกษาช่วยงานส่วนสื่อสารองค์กร