Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้ฯ ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการ “การอบไม้ปาล์มน้ำมันอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการยุบตัว”

อัพเดท : 27/07/2565

972

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการกำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ไม้ปาล์มน้ำมัน ครั้งที่ 1: เรื่อง "การแปรรูปไม้ปาล์มน้ำมันและไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆที่สามารถอบได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แตกและไม่ยุบตัวพร้อมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมทั้งรัฐและเอกชน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพกล่าวรายงาน พร้อมด้วย คุณวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณประชา งามรัตนกุล  ประธานกิตติศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง คุณเจษฎา อังวิทยาธร  กรรมการผู้จัดการบริษัทนครศรีพาราวู้ด จำกัดและผู้สนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วภาคใต้เข้าร่วมกว่า 120 คน ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
 


 

          โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็น "ตาน้ำแห่งความรู้" ที่จะหล่อเลี้ยงผู้คนในสังคมด้วยปัญญา มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญโดยตรงในการสนับสนุนงานด้านวิชาการ ทั้งในส่วนของการหาองค์ความรู้ใหม่ การพัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้เพื่อการใช้งานจริง รวมถึงการถ่ายทอดสิ่งที่ค้นพบและประดิษฐ์สู่การใช้งานจริงเพื่อสร้างผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในทุกภาคส่วนในทุกระดับ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติในระยะยาว

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า งานสัมมนาวิชาการในวันนี้เป็นหนึ่งในหลายงานภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นฐานที่มั่นคงให้กับท่านที่ทำงานในส่วนของภาครัฐและเอกชนได้นำไปต่อยอดให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมต่อไป เพื่อให้บรรลุความเป็นแหล่งของความรู้และวิทยาการที่ลึกซึ้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงมีนโยบายจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศที่เน้นความชำนาญเฉพาะด้าน โดยเป็นศูนย์ในหัวข้อเฉพาะทางที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญ ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงานของคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องจากหลายสำนักวิชาภายใต้การสนับสนุนของเจ้าหน้าที่และพนักงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตว์และเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อระดมดำเนินการวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิชาการจนลึกซึ้งถูกต้องและนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อประยุกต์ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

           “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ไม้ปาล์มน้ำมันในครั้งนี้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันให้สามารถขายต้นปาล์มน้ำมันอายุมากได้ สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ที่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีความแตกต่างในตลาด โดยจะมีน้ำหนักเบา เป็นฉนวนความร้อนและฉนวนเสียงที่ดี ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรปเพื่อทดแทนโฟมสังเคราะห์ และสุดท้ายเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม้ปาล์มน้ำมันเหล่านี้จะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไม่ให้กลับไปสู่บรรยากาศตลอดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ไม้ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรม ในการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ต้นปาล์มน้ำมันเหลือทิ้งในสวนในระตับอุตสาหกรรมต่อไป”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว
 

          ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน  กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย โดยมีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ในภาคใต้ซึ่งคิดเป็น 4%ของพื้นที่ปลูกทั่วโลก ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีเศษชีวมวลต้นปาล์มน้ำมันอายุมากที่ต้องกำจัดเพื่อปลูกใหม่ทดแทนเป็นปริมาณมากสูงถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม้แปรรูปอบแห้งเบื้องต้นประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่นๆที่จะตามมา แต่กระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการนำต้นปาล์มน้ำมันเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด นอกจากนั้นเกษตรกรยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดโค่นหรือใช้สารเคมีที่เป็นพิษฉีดเข้าลำต้นเพื่อให้ย่อยสลายทิ้งไปในสวน ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสและเป็นความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถนำไม้เหล่านี้ไปแปรรูปเหมือนไม้อื่นๆได้ เพราะลำต้นปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วยเซลล์พาเรนไคมาผนังบางที่มีความชื้นสูงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะเกิดการยุบตัวอย่างรุนแรงจากความดันคาปิลลารีที่เกิดขึ้นในระหว่างการอบ ทั้งนี้ด้วยวิธีการผลิตแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ไม้ปาล์มน้ำมันจะมีอัตราการแปรรูปในปริมาณที่ต่ำมากประมาณ 20-30% เท่านั้น นอกจากนี้ปริมาณความชื้นที่สูง (ประมาณ 4-5 เท่าของไม้ยางพารา) ยังทำให้ระยะเวลาและพลังงานที่ใช้ในการอบมีค่าสูงมากจนไม่คุ้มทุน

           รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าวต่อไปอีกว่า คณะนักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพได้ค้นพบกระบวนการ Pre-treatment ที่ง่ายซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยผนวกเพิ่มเข้ากับกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่แก้ปัญหาที่มีมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยในกระบวนการดังกล่าวจะประกอบด้วยการอัดน้ำเข้าในไม้ปาล์มน้ำมันต่อด้วยการแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแตกขนาดเล็กในระดับ 1 ในล้านของเมตรในโครงสร้างไม้ปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้มีปาล์มน้ำมันที่ผ่านกระบวนการนี้ สามารถอบได้อย่างรวดเร็วด้วยกระบวนการอบที่รุนแรง สามารถอบไม้ที่มีความหนามากๆได้ สามารถทำกระบวนการ Heat-treatment ด้วยความร้อนตั้งแต่เริ่มต้นที่อุณหภูมิสูงถึง 200 องศาเซลเซียสได้ กระบวนการ Pre-treatment ที่ค้นพบได้เปลี่ยนไม้ปาล์มน้ำมันที่ถือว่าอบยากที่สุดในบรรดาไม้ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ให้กลายเป็นไม้ที่อบได้ง่ายที่สุดได้ โดยที่คุณสมบัติต่างๆของไม้ไม่เสียไป

          “ทั้งนี้ทางคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้วใน 3 ประเทศ คือประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อเป็นการขยายผลของงานวิจัยชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นก่อนในประเทศไทย คณะนักวิจัยจึงจัดงานสัมมนาวิชาการในวันนี้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยให้กับบริษัท บุคคลผู้สนใจทั่วไปรวมถึงหน่วยงานสนับสนุนภาครัฐ เพื่อให้นำไปขยายผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดของอุตสาหกรรมใหม่จากเศษชีวมวลต้นปาล์มน้ำมันในวงกว้างต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าวในตอนท้าย

          การสัมนาวิชาการเรื่อง กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ไม้ปาล์มน้ำมัน ครั้งที่ 1: เรื่อง "การแปรรูปไม้ปาล์มน้ำมันและไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆที่สามารถอบได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แตกและไม่ยุบตัวพร้อมผลิตภัณฑ์ต้นแบบ" จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระดับปริญาเอก 2 ทุน และระดับปริญญาโท 1 ทุน ภายใต้การดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัททิมเบอร์เอ็นจิเนียริ่งออฟกระบี่และแผนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการขยะและของเสีย การลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้การดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่แบบครบวงจร โดยมีการศึกษาในส่วนของงานวิจัยเพื่อเข้าใจกลไกพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปขั้นต้นสำหรับอุตสาหกรรมไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจากไม้ปาล์มน้ำมัน โดยมีนักศึกษาผู้รับทุนในโครงการและทีมอาจารย์ที่ปรึกษา สังกัดหลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้ 1. นายชูศักดิ์ ฤทธิเพ็ชร โดยมีรองศาสตราจารย์ดร.นิรันดร มาแทน และรองศาสตราจารย์ ดร.สุธน ศรีวะโร อาจารย์ที่ปรึกษา 2. นางสาวพีระยา เศรษฐพงษ์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัจจพันธ์ สีละตานนท์ อาจารย์ที่ปรึกษา 3. นางสาวกมลวรรณ ดำยัง โดยมีรองศาสตราจารย์ดร.นิรันดร มาแทนและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฤกษ์ คงทอง อาจารย์ที่ปรึกษา

 

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร