Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.ม.วลัยลักษณ์ จัดอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร “วิทยากรผู้ช่วย”

อัพเดท : 02/08/2565

979

ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (อพ.สธ.-มวล.) ร่วมกับ อพ.สธ.และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดการฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร วิทยากรผู้ช่วย สำหรับศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ.และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นวิทยากรผู้ช่วยให้กับบุคลากรของศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. รวมถึงสร้างความรู้ ความเข้าใจหลักการดำเนินงานของวิทยากรผู้ช่วยในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2565

          โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ได้มีพิธีเปิดการอบรมมี รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.มวล. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการ อพ.สธ., ดร.ปียรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพ.สธ.,นางสาวลดาวัลย์ คำภา โครงการ The Biodiversity Finance Initiative (BIOFIN), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย วิทยากร อพ.สธ. ผู้แทนศูนย์แม่ข่าย และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน อาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ

          รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ กล่าวว่า “ตามที่ มวล.ได้ดำเนินการเข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการ อพ.สธ. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด และได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. เพื่อร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แล้วนั้น การจัดฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตรวิทยากรผู้ช่วย ในครั้งนี้ ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. ขอขอบคุณ อพ.สธ. สวนจิตรลดา ที่ได้ให้โอกาสเป็นเจ้าภาพในการร่วมจัดการฝึกอบรมครั้งนี้ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งในการดำเนินงานจากบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยได้รับความสนใจจาก ศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. จำนวน 20 แห่ง รวม 63 คน ในนาม มวล. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความเข้าใจในแนวทางการเป็นวิทยากรผู้ช่วยงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นมากขึ้น และในโอกาสนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ วันที่ 19 กันยายน 2565 และร่วมต้อนรับผู้มาร่วมการจัดงาน "การประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งที่ 11 ทรัพยากรไทย : 30 ปี อพ.สธ.ประโยชน์แท้แก่มหาชน" ในระหว่างวันที่ 19-24 กันยายน 2565 โดยพร้อมเพรียงกัน”

          ด้านศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กล่าวว่า “มวล. ในฐานะสถาบันแม่ข่ายเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (เครือข่าย C - อพ.สธ.) ภาคใต้ตอนบน และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. ซึ่งดำเนินงานภายใต้การดำเนินงาน  กรอบ 8 กิจกรรม ตามแผนแม่บทของ อพ.สธ. ได้จัด โครงการฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตรวิทยากรผู้ช่วย สำหรับศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ.และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นวิทยากรผู้ช่วยให้กับบุคลากรของศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. รวมถึงสร้างความรู้ ความเข้าใจหลักการดำเนินงานของวิทยากรผู้ช่วยในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ รวมถึงปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ของศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ทั่วประเทศ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ อปท. เป้าหมาย และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น”

          ทั้งนี้ อพ.สธ. ได้มีนโยบายให้สถาบันแม่ข่ายของเครือข่ายเชิงประเต็น อพ.สธ. - สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เครือข่าย C-อพ.สธ.) ทั้ง 9 แห่ง สมัครเข้าเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. และมีงานฝึกอบรม อพ.สธ.อยู่ในโครงสร้างศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ดำเนินการฝึกอบรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. โดยมีวิทยากรที่ได้รับการฝึกอบรมจาก อพ.สธ. และผ่านการสอบเป็นวิทยากร อพ.สธ. อย่างเป็นทางการอย่างน้อยศูนย์ฯ ละ 5 คน เพื่อที่จะสามารถฝึกอบรมให้กับสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ตามหนังสือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ที่ พว ๐๒๐๖.๑/๘๑๒๔ ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินงานสมัครสมัครเข้าเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ถึงสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยให้ดำเนินงานเพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. และมวล.ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มวล. ตามหนังสือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯที่ พว ๑๒๐๖.๑/๘๑๒๔ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒

 

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย นายชนิสร มังสาทอง นักศึกษาฝึกงานส่วนสื่อสารองค์กร