
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการ ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์กรร่วมจัด ให้เข้าร่วมงานและร่วมเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในการเสวนา เรื่อง “เมื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมคือหัวใจหลักของท่องเที่ยวไทย” “จากงานวิจัยสู่การลงมือทำ กรณีศึกษา การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในประเทศไทย” ในงาน Thailand Tourism Congress : Green Edition ในหัวข้อ “Cimate Change & Tourism” โรงแรม เดอะริเวอร์รี บาย กะตะธานี จังหวัดเชียงราย โดยในการเสวนาในวันนี้ ประธานในที่ประชุม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์สู่เป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยที่ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในเวทีโลกในการขับเคลื่อนและยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ประเทศไทยได้ประกาศว่าปี 2065 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2090 ทั้งนี้ได้มีการบรรยายพิเศษจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายชาตรี เวทสรณสุธี รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อต่างๆอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำไปสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่จังหวัดกระบี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยได้นำประสบการณ์และองค์ความรู้ไปร่วมเสวนาในงานนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ในปัจจุบันและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ได้นำเสนอประสบการณ์ในการทำวิจัยขึ้นห้างที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ต้องอาศัยการทำงานกับผู้ใช้ประโยชน์ที่เป็นทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนงานวิจัยบนฐานเครือข่ายคุณค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของนักวิจัยที่งานวิจัยมีการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือเมืองท่องเที่ยว โดยในการเสวนาครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ได้ยกตัวอย่างของงานวิจัยที่นำไปสู่การจัดตั้งคลองท่อมสปาทาวน์ต้นแบบของประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และชี้ให้ภาคเอกชนเห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิจัยตั้งแต่ต้นเพื่อนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำทั้งในด้านนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจว่า “ไม่มีใครต้องการเป็น Hero ที่ผ่านมา เรามักจะชวนผู้คนให้ออกมาปกป้องโลก แต่มุมมองหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ ถ้าผู้คนไม่เห็นประโยชน์ของการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นการยากที่จะทำให้ผู้คนออกมาทำสิ่งนั้น แทนที่จะชวนให้ออกมาปกป้องโลก ทำไมไม่สื่อสารและทำความเข้าใจว่าถ้าไม่ทำแล้ว เราทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบนั้น...”
“...กิจกรรมการวิจัยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการดำเนินการ ด้วยเหตุนี้ ในฐานะคณบดีต้องลงมือทำด้วย ซึ่งองค์ความรู้จากงานวิจัยจะถูกนำไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงพื้นที่วิจัยร่วมกับคณาจารย์...เราต้องสอนและเรียนรู้จากของจริงเพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนากระบวนความคิด...” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว
ท้ายสุดนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ต้องขอบคุณแหล่งทุนวิจัย ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่สนับสนุนทุนวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต คุณรังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว กรรมการบริหาร สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตที่ร่วมจัดกิจกรรมที่มีคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินงาน”