Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์นำกระบี่โมเดลร่วมต้อนรับเอกอัครราชทูตประเทศคาซัคสถานประจำประเทศไทยในคราวมาเยี่ยมชมจังหวัดกระบี่

อัพเดท : 19/10/2565

557

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ และหัวหน้าโครงการวิจัยกระบี่โมเดล​ร่วมต้อนรับ H.E Arman Issetov, Ambassador of Kazakhstan ในการมาเยือนจังหวัดกระบี่​ โดยมีคณาจารย์ในโครงการวิจัย การสร้างตัวแบบเชิงธุรกิจด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้เกษตรกร และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกระบี่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีอาจารย์​ ดร.ธเนศ​ คอมเพ็ชร​ จากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร​ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วาลุกา​ เอมเอก​ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับและนำเสนอกระบวนการวิจัยและผลการวิจัยภายใต้โครงการกระบี่โมเดลที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโอกาสนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีญาภรณ์ แก้วทวี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่รับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับสาหร่ายขนนกได้ร่วมนำเสนอด้วย โดยการเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการกระบี่โมเดลเป็นการเดินทางตามคำเชิญของ ส.ส.ดร.พิมพ์รพี พันธ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

          โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ พร้อมทั้งนักวิจัยได้นำคณะเอกอัครราชทูตประเทศคาซัคสถานประจำประเทศไทยเยี่ยมชมการดำเนินการโครงการกระบี่โมเดล ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงแพะในสวนปาล์ม การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก การผลิตเห็ดร่างแห และการพัฒนาผ้ามัดย้อมบาติกจังหวัดกระบี่ ที่มีการใช้องค์ความรู้ วิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตและแปรรูป โดยเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรเพื่อลดการพึ่งพาจากหน่วยงานภาครัฐ นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปนำชาวบ้านทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การสร้างเป้าหมายการเพิ่มรายได้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อคน ต่อเดือน สิ่งที่สำคัญ คือ การนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปเปลี่ยนวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีตัวอย่างผลผลิตที่ดีขึ้น อาทิ การเพิ่มผลิตการผลิตปาล์มน้ำมันจาก 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี เป็นประมาณ 4.5 ตันต่อไร่ต่อปี การขยายปริมาณการเลี้ยงแพะในสวนปาล์มที่ส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายการดูแลสวนปาล์ม และการเพิ่มผลผลิตจาก 8 ตัวเป็นเกือบ 80 ตัวภายในระยะเวลา 2 ปี การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกที่เป็นอาหาร Signature ของจังหวัดกระบี่ การเพาะเห็ดร่างแห รวมถึงการผลิตเชื้อเห็ดภายในจังหวัดกระบี่ การพัฒนาสีธรรมชาติและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่เพื่อสร้างผ้ามัดย้อมจังหวัดกระบี่ที่มีเอกลักษณ์ โดยมีการนำองค์ความรู้ด้านการตลาดเป็นตัวนำการพัฒนาเพื่อการสร้างประสิทธิภาพการผลิตและเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรไปสู่การผลิตและมีวิถีชีวิตแบบไม่รอ ไม่ขอ ลงมือทำ ซึ่งในวันนี้เกษตรกรและผู้ที่ร่วมดำเนินงานภายในโครงการกระบี่โมเดลได้นำผลิตภัณฑ์มาร่วมต้อนรับและแสดงผลผลิตให้กับคณะเอกอัครราชทูตจากประเทศคาซัคสถาน

ในระหว่างการเยี่ยมชมดูงาน ดร.พิมพ์รพี พันธ์วิชาติกุลได้เชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดของผลผลิตจากโครงการกระบี่โมเดลในการต่อยอดเพื่อส่งออกไปยังประเทศคาซัคสถานทั้งด้านผลผลิตการเกษตรและผ้ามัดย้อมและได้รับความสนใจที่จะมีการพัฒนาต่อยอดในอนาคต ท้ายสุดนี้ประเทศคาซัคสถานมีความสนใจเรื่องการสร้างความร่วมมือทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์​ โดยคณะอาจารย์ได้นำเสนอผลงานวิจัยพร้อมทั้งศักยภาพของมหาวิทยาลัยต่อการเป็น​ World​Class​ University​ และศักยภาพด้านต่าง​ๆ​

ท้ายสุดนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ได้กล่าวว่า “...ผมได้นำคณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการหลายท่านเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ รวมถึงความร่วมมือกับคณาจารย์จากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน และบัณฑิตวิทยาลัยในการขับเคลื่อนกระบี่โมเดลบนฐานศักยภาพของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบทางสังคมที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ในหลาย ๆ พื้นที่ และเป็นความภาคภูมิใจในฐานะนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยในการใช้ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง..."