Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม. วลัยลักษณ์ จับมือภาคเอกชน MOU วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์

อัพเดท : 07/11/2565

603

            ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคุณหิรัญปกรณ์ ทองเหม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ต โคโค่ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด และคุณณัฐฐาพล สุริยณครัมมญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มนตราแมนเนจเมนท์ จำกัด ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  Mr.Lucas Bart Myer บริษัท ภูเก็ต โคโค่ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัดและคุณพัชรกันต์ สุริยณครัมมญ์ บริษัท มนตราแมนเนจเมนท์ จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน โดยได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณบดีสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์  และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมต้อนรับและเป็นสักขีพยาน ณ ห้องเกียรติยศ ชั้น 4 อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันจันทร์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

          การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ในขั้นตอนต่างๆ ทั้งการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระบบปิด การสกัดกัญชาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง การพัฒนาห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเพื่อการวิเคราะห์ทดสอบสารสกัดจากกัญชา การพัฒนายาที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ เป็นต้น โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลาด้วยกัน 3 ปี

          ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับโลก ได้รับการจัดอันดับโลกจาก World University Rankings โดย Times Higher Education อันดับที่ 1501+ ของโลก อันดับที่ 11 ของไทยเป็นปีแรก เพราะฉะนั้นในเรื่องของการวิจัยถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยพัฒนาทั้งด้านการเรียนการสอนและการก้าวสู่อันดับโลก ซึ่งในปัจจุบันกัญชาหรือกัญชง เป็นพืชที่รัฐบาลให้ความสำคัญยกให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำงานเพื่อตอบสนองนโยบาย และมหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรด้านการศึกษาที่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย มึความเข้มแข็งทางด้านการเกษตร อาหาร การแพทย์ เภสัช ไอที และอื่นๆ เพื่อการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ซึ่งมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนทางด้านการวิจัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

          ด้านหิรัญปกรณ์ กล่าวว่า บริษัทภูเก็ต โคโค่ อิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด ทำธุรกิจด้านการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก หลังจากรัฐบาลได้ส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ทางบริษัทฯ จึงได้มองเห็นโอกาสในครั้งนี้ แต่ต้องเริ่มจาการผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับคุณภาพกัญชาจากไทยให้ได้ ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการสกัด ซึ่งการตัดสินใจร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากประทับใจที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีเป้าหมายที่ชัดเจน ในเรื่องการยกระดับมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และมองเห็นโอกาสที่ความร่วมมือนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถยกระดับคุณภาพและการศึกษาวิจัยกัญชาให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งสามารถยกระดับสายพันธุ์กัญชาของไทยและผลผลิตจากการสกัดกัญชาไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้ ถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย นายวรปรัชญ์ จันทร์ปาน นักศึกษาสหกิจศึกษา ส่วนสื่อสารองค์กร