Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหาร หลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) รุ่นที่ 2"

อัพเดท : 18/11/2565

671

     

      มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยส่วนทรัพยากรมนุษย์และองค์กร จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในหลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) รุ่นที่ 2" เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ทักษะการบริหารสําหรับใช้เป็นแนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ World Class University  ได้รับเกียรติย่างสูงยิ่งจากอาจารย์ ดร.ธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และทีมผู้ช่วยวิทยากรจากบริษัท ดีซีซี ซินเนอร์จี จํากัด ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกระบวนการจัดอบรมสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานกล่าวเปิดการสัมมนา รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวรายงาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมสัมมนารวมจำนวน 42 คน ณ ห้องประชุมหัวตะพาน ชั้น 3 โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา


     โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า “ตามที่ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีดำริให้มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาผู้บริหารระดับสูงหลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid)" เพื่อให้ผู้บริหรระดับสูงของมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะทั้งศาสตร์และศิลป์ในการรู้จักตนเอง การสร้างการเปลี่ยนแปลง การจัดการความขัดแย้ง ตามแนวคิดทฤษฎี Grid เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการบริหาร สร้างความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ World Class University ซึ่งหลักสูตรนี้ถือว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จเรื่องหนึ่งที่จะให้ผู้บริหารนำไปต่อยอดเพื่อการพัฒนางาน โดยเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยท่านนายกสภามหาวิทยาลัยได้สนับสนุนจัดทีมวิทยากรให้กับมหาวิทยาลัย พร้อมกับเตรียมเอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2” 

 


     ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  กล่าวอีกว่า “มหาวิทยาลัยมีความคาดหวังว่าผลที่จะได้รับจากโครงการนี้ จะทำให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม สามารถนำทักษะในการบริหารเพื่อนำไปสู่การสร้างทีมงานที่ดีและสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรอย่างได้ผล โดยใช้กระบวนการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของ Grid ในการให้สมาชิกขององค์กรได้มีส่วนร่วม และมีบทบาทเกี่ยวข้อง ในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความผูกพันในองค์กร”


     ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ กล่าวว่า “ตามที่มหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) รุ่นที่ 1 สำหรับผู้บริหารกลุ่มตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาได้บรรลุผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง และด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลประกอบกับเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของท่านอธิการบดี (ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์) ที่จะพัฒนาให้ผู้บริหารระดับสูง พัฒนาตนเอง พัฒนาการทำงานเป็นทีมที่แข็งแกร่ง และพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นอยู่ (Actual Culture) ให้เป็นวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสม (Ideal Culture) เพื่อให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาถาวรให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และสามารถสร้างเสริมพลังทีมในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ "เป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก" นั้น มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะขยายผลให้ผู้บริหารกลุ่มตำแหน่งบริหารวิชาการและบริหารจัดการที่เป็นผู้บังคับบัญชาระดับหน่วยงาน ให้ได้รับการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ตามหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) ได้ครบทุกคน”

 
     โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในหลักสูตร "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) รุ่นที่ 2" ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้รับความกรุณาจากวิทยากรท่านธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และทีมผู้ช่วยวิทยากรจาก บริษัท ดีซีซี ซินเนอร์จี จำกัด ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกระบวนการจัดอบรมสัมมนาในครั้งนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ จำนวน 42 ท่าน ได้แก่ กรรมการสภามหาวิทยาลัย 3 ท่าน,รองอธิการบดี 2 ท่าน, คณบดี 1 ท่าน, รองคณบดี 17 ท่าน, ผู้อำนวยการศูนย์ 7 ท่าน และหัวหน้าส่วน 12 ท่าน ในส่วนของเนื้อหาหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) เหมือนกับ รุ่นที่ 1 ทุกประการ โดยเป็นการสัมมนาแบบกลุ่มปฏิบัติการเชิงมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-Oriented Practical Workshop) ที่ออกแบบอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงมีทักษะในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ 7 ประการ คือ ความคิดริเริ่ม (Initiative) การหาข้อมูล (Inquiry) การแสดงความคิดเห็น (Advocacy) การแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) การตัดสินใจ (Decision Making) การวิพากษ์ (Critique) และการปรับตัวให้รับได้ทั้งสุขและทุกข์ (Resilience) เพื่อนำไปสู่การสร้างทีมงานที่ดีและสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การอย่างได้ผล โดยใช้กระบวนการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การของ Grid ในการให้สมาชิกขององค์การได้มีส่วนร่วม (Participation) และมีบทบาทเกี่ยวข้อง (Involvement) ในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความผูกพัน (Commitment) ในองค์กรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 

  

 

 

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร