Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 5 จังหวัดภาคใต้ พัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

อัพเดท : 03/05/2566

349

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป โดยศูนย์บริการวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นเลิศสู่สากล  ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระนอง ขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ตามเจตนารมณ์ที่นายกรีฐมนตรได้ประกาศไว้ในที่ประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ภายในปีพ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 และเพื่อตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development strategy)  ที่กำหนดเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 ภายในปี พ.ศ. 2573

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการที่ปรึกษา กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ซึ่งมีการนำเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อประชาคมโลก โดยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายใน พ.ศ.2573 หรือที่เรียกว่า NDC (Nationally Determined Contribution) มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติ จากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ.2608 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยนั้น “จังหวัด” มีบทบาทที่สามารถกำกับดูแล และกำหนดทิศทางการพัฒนาในระดับท้องถิ่น เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถกำหนดมาตรการและพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งรัฐบาลยังมีการกำหนดนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบ    บูรณาการ ประสานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดสามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัด

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดประชุมคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2566 เพื่อชี้แจงข้อมูลรายละเอียดความเป็นมาของโครงการฯ และขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและองค์กรภายในจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้สำเร็จและบรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้

1.จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายศรัทธา ทองคำ) เป็นประธานในการประชุม

2.จังหวัดชุมพร  จัดประชุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด (นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์) เป็นประธานในการประชุม

3. จังหวัดพัทลุง จัดประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายก้องสกุล จันทราช) เป็นประธานในการประชุม

4. จังหวัดระนอง จัดประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายบุญชัย สมใจ) เป็นประธานในการประชุม

5.จังหวัดตรัง จัดประชุมเมื่อวานที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายวิศิษฐ์ อนันต์วรปัญญา) เป็นประธานในการประชุม 

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/20640