Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่นักวิจัยที่ได้รับการจัดลำดับจาก AD Scientific Index (World Scientists Rankings – 2023)

อัพเดท : 18/08/2566

850

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ จัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้รับการจัดลำดับจาก AD Scientific Index (World Scientists Rankings – 2023) ภายใต้กิจกรรมการติดตามการดำเนินงานของโครงการภายใต้กองทุน ววน.โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงบประมาณโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักวิจัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมคณะผู้บริหาร สกสว. สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม ณ ห้องภัทรธรรมาภรณ์ อาคาร (ชั้น 9)  โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันพุธ ที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา


     


ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่จะได้รับมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติระดับสากลนักวิจัย World's Top Scientists Rankings ที่จัดอันดับโดย AD Scientific Index (Alper-Doger Scientific Index) ซึ่งเป็นการจัดอันดับนักวิจัย โดยค่า AD Scientific Index บ่งชี้การผลิตผลงานวิชาการต่าง ๆ ทั้งผลงานวิจัย และหนังสือ ของนักวิทยาศาสตร์รายบุคคลในช่วง 6 ปีล่าสุด"World's Top Scientists Rankings 2023" จัดอันดับนักวิจัยโดย AD Scientific Index ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Google Scholar คำนวณ AD Scientific index โดยใช้ค่า i10-index (จำนวนผลงานที่ได้รับอ้างอิงอย่างน้อย 10 ครั้ง), h-index , Citation และสัดส่วนของ index ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาต่อค่า index รวม
     
การจัดอันดับ AD Scientific Index - Scientist Rankings 2023 ในครั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีรายชื่อนักวิจัยที่ถูกจัดอันดับ จำนวน 76 คน จากผลการจัดอันดับของประเทศไทยมีนักวิจัยที่ติดอันดับทั้งหมดจำนวน 5,873 คน จากมหาวิทยาลัยทัวประเทศจำนวน 151 แห่งโดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ติดอันดับ World's Top 10% จำนวน 1 ท่าน,World's Top 20% จำนวน 2 ท่าน, World's Top 30% จำนวน 7 ท่าน, World's Top 40% จำนวน 4 ท่าน, World's Top 50% จำนวน 4 ท่าน, World's Top 60% จำนวน 4ท่าน, World's Top 70% จำนวน 24 ท่าน, World's Top 80% จำนวน 24 ท่าน และ World's Top 90% จำนวน 6 ท่าน รวมทั้งหมดจำนวน 76 ท่าน


     
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การบริหารงานของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มีความเข้มแข็งและศักยภาพด้านต่างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตนได้ติดตามการประเมินโครงการฯ และได้ย้อนดูข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พบว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลการดำเนิงานที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นคำถามว่าบริหารงานอย่างไร จึงทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทีมนักวิจัยที่ได้เห็นประจักษ์มนศักยภาพที่มีอยู่ ขอชื่นชมและยินดีที่วันนี้ได้มาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และอยากทำงานแบบพาร์ทเนอร์มากกว่าการเป็นผู้ให้งบประมาณและรับงบประมาณ ด้วยความเข้าใจในบทบาทและอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย อยากเห็นกองทุน ววน. โดย สกสว.จะเป็นตัวหนุนเสริมเพื่อให้ผู้รับงบประมาณของเราเก่งและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และบริการวิชาการแก่สังคม เราจะปาวารณาตัวอยู่เบื้องหลัง ทำให้หน่วยงานไปข้างหน้าและไปถึงประชาชนให้ได้ ทุกครั้งที่ให้งบประมาณจะถามว่าประชาชนได้อะไร สกสว. มีหน้าที่ชี้แจงงบประมาณแทนทุกหน่วยงาน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กองทุน ววน. สร้างการเปลั้ยนแปลงอะไรให้กับประเทศบ้าง จึงอยากให้สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เราได้เห็นในเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้กับประเทศ เรื่องผลงานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นการสำรองข้อมูลการทำวิจัยประยุกต์ แต่หลายครั้งการขาดงานวิจัยพื้นฐานไม่สามารถสนับสนุนการพัฒนาวิทยาการไปข้างหน้าได้ และการทำวิจัยโดยที่นักวิจัยทำนวัตกรรมแต่ไม่มีความรู้พื้นฐาน นวัตกรรมจึงอาจขาดสตอรี่ ขาดความสามารถในการยกระดับ ดังนั้นจึงคิดว่า เรื่องความรู้ควบคู่กับการคิดนวัตกรรมจะต้องไปด้วยกัน ความรู้พื้นฐานและความรู้จากพื้นที่ ทีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ เป็นความรู้พื้นฐานหลาย ๆ เรื่องที่เป็นของตัวเอง เป็นของพื้นที่จึงมีความสำคัญเช่นกัน ถ้ามหาวิทยาลัยมีนักวิจัยเก่ง ๆ ในหลาย ๆ ด้าน คิดว่าท้ายที่สุด ทุกท่านจะสามารถช่วยเสริมการทำงานให้กับหลาย ๆ เรื่องเพราะหลายเรื่องในพื้นที่ ยังไม่สามารถยกระดับเป็นงานวิจัยระดับชาติและระดับนานชาติได้ เห็นว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อยากขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ทุกท่านต่อไป
     
นอกจากนั้นภายในงานยังมีการนำเสนอภาพรวมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี  การนำเสนอผลงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ที่มีศักยภาพในการต่อยอดที่นำไปสู่เกษตรมูลค่าสูง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการ กระบวนการการแปรสภาพทะลายปาล์มน้ำมันเปล่าเหลือใช้สู่สารชีวเคมีมูลค่าสูง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ รองวงศ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี 2. โครงการการเพิ่มศักยภาพและการใช้ประโยชน์สารสกัดขมิ้นชันด้วยระบบไมโครอิมัลชันของยูเทคติกลึก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กรวิทย์ อยู่สกุล สำนักวิชาเภสัชศาสตร์
     
จากนั้นคณะได้เดินทางไปยัง ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในกุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เยี่ยมชมธนาคารปูม้า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช'.) นำเยี่ยมชม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกด้วย


ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร