
เมื่อวันที่ 3 – 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา อาจารย์สุนทร บุญแก้ว อาจารย์สาขาการท่องเที่ยวและโปรเชฟ สำนักวิชาการจัดการ และหัวหน้าโครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-Based Learning: WBL) ได้ให้การต้อนรับและนำคณะผู้บริหารและคณาจารย์จากคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล จำนวน 10 ท่าน เดินทางไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน (WBL) และ CWIE ภายใต้ SAMUI MODEL ที่สาขาวิชาการท่องเที่ยวและโปรเชฟได้ดำเนินงการร่วมกับผู้บริหารและพนักงานโรงแรมในเครือ Nora Hotels & Resorts โรงแรม The Hive Samui และ โรงแรม Six Senses ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นมา
ในวันแรกของการศึกษาดูงาน คุณกฤษณา พรหมเกาะ กรรมการผู้จัดการโรงแรม The HIVE Samui และประธานชมรมบริหารงานบุคคลโรงแรมเกาะสมุย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากมุมมองของเจ้าของกิจการและผู้บริหารโรงแรมให้ทางคณะให้ได้เล็งเห็นถึงปัญหาวิกฤติด้านแรงงานในพื้นที่สมุย โดยมุ่งเน้นขยายให้เห็นถึงความสำคัญและโอกาสที่สถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารและพนักงานของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการได้ประจักษ์แล้วว่าได้ประโยชน์จาก WBL และ SAMUI MODEL อย่างไร การเข้าไปมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษาเกิดพลังและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างรวดเร็ว การได้เข้าไปร่วมในกระบวนการออกแบบหลักสูตร การขับเคลื่อนการดำเนินงาน และความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและในฐานะอาจารย์พิเศษที่สอนวิชาการพัฒนาทรัพยากมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของนักศึกษาที่ได้รู้จักตัวตนมากยิ่งขึ้น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของงานบริการ และพัฒนาทักษะวิชาชีพให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับข้อเสนอให้ทำงานก่อนสำเร็จการศึกษา
ในวันถัดไป ทางคณะไปเยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้าน WBL และ CWIE ภายใต้ SAMUI MODEL ณ โรงแรม Six Senses Samui และได้รับเกียรติจากคุณปราณี หวังกุหลำ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตัวแทนของผู้บริหารและพนักงานของโรงแรมในการถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นในการติดต่อเพื่อทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จนถึงวันสุดท้ายที่นักศึกษาได้ผ่านกระบวนการ WBL และ CWIE ทั้งนี้ โรงแรม Six Senses Samui นับได้ว่าเป็น 1 ใน Best Practices ของสถานประกอบการที่ให้การดูแลนักศึกษา สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะวิชาชีพให้นักศึกษา รวมทั้งได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน WBL และ CWIE ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ผ่านมาอย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ทางคณะได้มีโอกาสศึกษาดูงานด้าน Green Initiative และ Sustainability ของโรงแรม ซึ่งมี Garden on the Hill ที่เป็นอีก Best Practice ของโรงแรมที่มีลูกค้าที่มาพักที่โรงแรม รวมทั้งคณะบุคคล และหน่วยงานภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้น ทางคณะเดินไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดำเนินงานภายใต้โครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน (WBL) และ CWIE กับผู้บริหารโรงแรมในเครือ Nora Hotels & Resorts โดยมีคุณ Lloyd Maravilla ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม Nora Buri Resort & Spa โรงแรม Nora Chaweng และ โรงแรม Nora Lake View และคุณประจวบพันธ์ สาขากรผู้จัดการทั่วไปโรงแรม Nora Beach Resort & Spa และ Group Director of Sales & Marketing ให้การต้อนรับทางคณะ พร้อมทั้งถ่ายทอดมุมมองและแนวคิดในฐานะผู้บริหารระดับสูงที่ อยากเห็น อยากได้นักศึกษา และบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวผ่าน WBL และ CWIE อย่างไร ควรจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับผู้ใช้บัณฑิตอย่างไร และผู้บริหารสามารถให้การสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง ขณะที่คุณเจริญ รุ่งเรือง Group Director of Human Resources โรงแรมในเครือ Nora Hotels & Resorts ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ที่อาจารย์ศักดิ์ชัย ปิ่นเพชร ที่ได้เข้ามาบุกเบิกและริเริ่มโครงการดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้พูดคุยกันถึงรูปแบบในการดำเนินการก็สามารถเล็งเห็นถึงแนวทางในการแก้ปัญหาทรัพยากรบุคคลของโรงแรมที่สมุย ซึ่งขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในระดับรุนแรงมาก รูปแบบการเรียนการสอน WBL ตอบโจทย์ของสมุยได้เป็นอย่างดี เพราะเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้บริหารสถานประกอบการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดการเรียนการสอนร่วมกับคณาจารย์ของสถาบัน ได้ร่วมกันผลิตบัณฑิตให้มีทักษะวิชาชีพและทัศนคติในกาทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้เรียนรู้ ฝึกทักษะวิชาชีพในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ในตอนนั้นคุณเจริญกล่าวไว้ว่าได้คาดหวังที่จะเห็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาร้อยละ 10 กลับมาทำงานที่สมุย ก็ถือว่าเป็นผลการตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว ซึ่งสถิติที่สาขาวิชาการท่องเที่ยวและโปรเชฟแสดงให้เห็นว่าบัณฑิตเกือบจะร้อยละ 40 กลับมาทำงานที่สมุย โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกหลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย
กิจกรรมสุดท้ายของทางคณะฯ เป็นการสรุปผลการดำเนินงานและการถอดบทเรียนโครงการ WBL และ CWIE ผ่าน Samui Model เชิงพื้นที่ (Area-Based Approach) โดยอาจารย์สุนทร บุญแก้ว รวมทั้งได้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อให้ผู้บริหารและอาจารย์ผู้รับผิดชอบ 3 สูตรของคณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแนวทางการขับเคลื่อน CWIE ของคณะต่อไป