Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ขอแสดงความยินดีกับ “สิทธิบัตรฉบับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เรื่อง “การปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน”

อัพเดท : 10/11/2566

901

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน อาจารย์ประจำสาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ และนายทวีศิลป์ วงศ์พรต นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโอกาสที่ผลงานเรื่อง “การปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยสิทธิบัตรฉบับนี้นับเป็นสิทธิบัตรฉบับที่ 2 ของ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทนและของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผลงานวิจัยเรื่อง“การปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน” เป็นการปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราต่อการเข้าทำลายของเชื้อราและแมลง โดยกรรมวิธีการต้มไม้ยางพาราที่อิ่มตัวด้วยน้ำในน้ำ ภายใต้ความดันที่ทำให้น้ำมีสภาพเป็นของเหลว กระทำโดยการอัดน้ำเข้าไปในไม้ยางพาราจนมีความชื้นอิ่มตัว แล้วจึงทำการให้ความร้อนแก่น้ำในถังทนแรงดัน โดยใช้ไอน้ำเพื่อเพิ่มอุณหภูมิของน้ำในถังอัดให้มีค่าระหว่าง 140 - 160 องศาเซลเซียส แล้วรักษาอุณหภูมิให้คงที่ เป็นระยะเวลาระหว่าง 30 นาที - 12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการต้มและความหนาของไม้ โดยในขณะที่ทำการให้ความร้อนจะต้องรักษาความดันของน้ำในถังอัดให้คงที่ และมีค่าสูงเพียงพอที่จะทำให้น้ำภายในถังอัดที่อุณหภูมิการต้มค่าดังกล่าวอยู่ในสภาวะที่เป็นของเหลวตลอดเวลา หลังจากนั้นทำการลดอุณหภูมิและความดันของน้ำในถังอัดลงโดยควบคุมอัตราการเย็นตัวให้น้อยกว่า 3 องศาเซลเซียส/นาที เพื่อป้องกันการแตกของไม้ เมื่อถ่ายน้ำออกจากถังอัดความดันหมดแล้ว ทำการเปิดถังแล้วนำไม้ออกจากถังอัด เพื่อนำไปผ่านกระบวนการอบไม้ยางพาราแปรรูปให้ได้ความชื้นในไม้ตามต้องการต่อไป

โดยเมื่อปี 2563 ผลงานวิจัยเรื่อง “ชุดวัดความเค้นในไม้แบบต่อเนื่อง”แก้ปัญหาไม้แตกจากการอบ ลดต้นทุนการผลิต ของ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน ได้รับการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เป็นสิทธิบัตรฉบับแรกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มาแล้วเช่นกัน