Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหารตามมาตรฐานสากลพร้อมรับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุค Digital Transformation

อัพเดท : 05/01/2567

268

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ส่วนทรัพยากรมนุษย์และองค์กร จัดโครงการฝึกอบรม หลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพนักบริหารการศึกษาระดับสูง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” (นบส. มวล.) เพื่อให้นักบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยมีความรู้ความเข้าใจในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุค Digital Transformation โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวรายงาน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธานบริษัท แคนวาสเวนเจอร์ จำกัด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Disruption Challenges in Higher Education” ณ ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

 

          โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้พัฒนาและปรับปรุงมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนงาน การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น การพัฒนาและปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย ปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอน การบริหารและการปฏิบัติงาน จัดการในเรื่องข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ  พัฒนาระบบการกำกับติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพให้แก่พนักงาน สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key success factors) ที่สำคัญยิ่ง คือ การมีผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ มีทักษะการบริหารสําหรับใช้เป็นแนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ World Class University เมื่อปีที่แล้วได้รับความกรุณาจากท่านนายกสภามหาวิทยาลัย (อาจารย์ ดร.ธีระชัย เชมนะสิริ) เป็นวิทยากร อบรมสัมนาหลักสูตร “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับสูง (The Leadership Grid) 

          อย่างไรก็ตาม  ภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกยุค Disruptive World ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด เป็นผลมาจากอิทธิพลของ Disruptive Technologies คือเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจโลก โดยอาศัยนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยในเกือบทุกมิติ  มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องพัฒนาศักยภาพของนักบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผนึกกำลังบุคลากรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ได้รับการจัดอันดับใน World Ranking University ในอันดับที่สูงขึ้น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย สร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาให้แก่สังคม และมหาวิทยาลัยมีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในแง่ผลงานวิจัยและบริการวิชาการ และสร้างบัณฑิตที่มีทักษะแห่งอนาคตและมีศักยภาพสูง


     

          ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ กล่าวรายงานโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า “โครงการฝึกอบรม หลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพนักบริหารการศึกษาระดับสูง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” (นบส. มวล.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย มีความรู้ความเข้าใจในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุค Digital Transformation กลยุทธ์การบริหารการศึกษาในภาวะวิกฤติ และการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการบริหารจัดการในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุผลลัพธ์ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้เสริมสร้างประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับใน World Ranking University”       

          ทั้งนี้โครงการฝึกอบรม นบส. มวล.ในครั้งนี้มีเนื้อหาของหลักสูตรฝึกอบรมทั้งหมด 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 75 ชั่วโมง ไม่รวมระยะเวลาในการจัดทำรายงานการศึกษา สำหรับรายงานการศึกษาได้แบ่งนักบริหาร เป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มสามารถกำหนดหัวข้อรายงานการศึกษาได้เอง ภายใต้ Theme “World Class University in Disruptive Higher Education” เป็นการประยุกต์หลักการ แนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ในหัวข้อต่าง ๆ จากการอบรม เพื่อเสนอแนะนโยบายหรือกลยุทธ์ในการบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยในระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567–2571) เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย รวมถึงแนวทางการลดปัญหา ลดความเสี่ยงที่จะเกิดต่อมหาวิทยาลัย
     
          โดยได้รับเกียรติจาดวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้  1) รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐกิจและการเมือง บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของประเทศไทยและของโลก” 2) รองศาสตราจารย์ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี บรรยายในหัวข้อ “Digital Transformation กับการปรับตัวของมหาวิทยาลัย” 3)นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรยายในหัวข้อ “การสร้างอุดมศึกษาไทยให้เข้มแข็งในเวทีโลก” และ 4) นายชวน หลีกภัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อดีตนายกรัฐมนตรี/อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร) บรรยายในหัวข้อ “จริยธรรมและธรรมาภิบาลสาหรับนักบริหาร”