
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศผลการพิจารณาผลงานสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถคว้า “รางวัลดีเด่น” การวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ จาก “ผลงานการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้”
ทั้งนี้ “ผลงานการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้” ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ มาจากผลการพัฒนาศักยภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนางานวิจัย สนับสนุนการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (Scopus=Q1,Q2) ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มที่ 1 : กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) จากการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยของกระทรวง อว.
รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมนำเสนอผลงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ในรูปแบบ Online) กับกระทรวง อว.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเพิ่มขึ้นของจำนวนผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ (Q1,Tier 1) ต่อจำนวนนักวิจัยต่อปี (year on year) ในระยะเวลา 5 ปีล่าสุด (ค.ศ.2018 - 2022) 2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัย (Citation) 3) จำนวนงบประมาณด้านการวิจัยที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอกต่อนักวิจัย และ 4) การเพิ่มขึ้นของจำนวนบุคลากรที่เข้าร่วมเป็นกรรมการ/ผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงาน/องคก์รในระดับนานาชาติ หรือบุคลากรที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล (เช่น Top 1% Highly Cited Researcher)
จากสถิติจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ พบว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2018-2022 ดังนี้ ปี 2018 จำนวน 172 บทความ, ปี 2019 จำนวน 220 บทความ, ปี 2020 จำนวน 365 บทความ, ปี 2021 จำนวน 580 บทความ และปี 2022 จำนวน 738 บทความ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 142 บทความ/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 45
ด้านผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติระดับ Tier 1 หรือ Top 10% ของแต่ละสาขา ตั้งแต่ปี 2018-2022 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนี้ ปี 2018 จำนวน 23 บทความ, ปี 2019 จำนวน 32 บทความ, ปี 2020 จำนวน 60 บทความ,ปี 2021 จำนวน 92 บทความ และปี 2022 จำนวน 134 บทความ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 28 บทความ/ปี คิดเป็นร้อยละ 56 และในปี 2021 มีจำนวนการอ้างอิงบทความวิจัย (Citations) สูงสุดจำนวน 4,731 ครั้ง และได้รับทุนวิจัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ล่าสุด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับ Q1,Q2 อยู่ที่ 90.88% เป็นอันดับ 1 ของประเทศ อีกด้วย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ม.ค.’67) รวมทั้งนักวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์ ยังได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก “World’s Top 2% Scientists” ประจำปี 2023 จัดอันดับโดย Stanford University โดยติดอันดับมีผลกระทบการอ้างอิงตลอดชีพสูงสุด จำนวน 2 คน และติดอันดับผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี 2022 สูงสุด จำนวน 5 คน
ผลจากการพัฒนาคุณภาพด้านการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก จาก Time Higher Education ปี 2023 อยู่ในอันดับ 1201+ อันดับ 6 ร่วมของไทย ขยับดีขึ้นจากปี 2022 ในอันดับ 1501+ อันดับที่ 11 ร่วมของไทย อีกทั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้รับการจัดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ (Young University Rankings 2023) อยู่อันดับ 501+ ของโลก อันดับ 3 ร่วมของไทย และได้รับการจัดอันดับ THE Impact Ranking ปี 2023 อยู่ในอันดับที่ 401-600 ของโลก อันดับที่ 10 ร่วมของประเทศไทยอีกด้วย
โครงการคัดเลือกผลงานสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกย่องและตระหนักในคุณค่าของผลงาน การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ และพัฒนานวัตกรรมจากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ขั้นสูง อันจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการกระตุ้นให้สถาบันอุดมศึกษา เห็นความสำคัญของการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้
(ที่มา จากประกาศผลการพิจารณาผลงานสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 กระทรวง อว. : https://www.ops.go.th/en/news-all/announcement-driven/item/9594-2024-01-10-10-07-47)