Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ เผยการประยุกต์ใช้พาหนะระดับนาโนจากเปลือกหุ้มไวรัสกุ้งเพื่อนำส่งสารออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสหลายชนิดและมีผลช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการติดเชื้อ

อัพเดท : 20/02/2567

248

         รองศาสตราจารย์ ดร.พิชชานีย์ จริยพงศ์  สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เผยว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม การเพาะเลี้ยงที่มีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วมากเกินไปมักเกิดความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการตายของกุ้งอย่างมหาสาร  การแทรกแซงการติดเชื้อด้วยวิธีการใช้สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  วัคซีน และการรบกวนด้วยอาร์เอนเอสายคู่จึงถูกนำมาใช้ป้องกันไวรัส อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันระยะสั้นเท่านั้น  ปัจจุบัน อนุภาคเสมือนไวรัสได้ถูกพัฒนาขึ้นและได้รับการยอมรับเป็นเทคโนโลยีระดับนาโนที่สามารถใช้ต่อสู้กับไวรัส  นอกจากนั้น อนุภาคเสมือนไวรัสยังสามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มสารต่าง ๆ และนำส่งไปยังอวัยวะเป้าหมายรวมทั้งยังสามารถใช้เป็นสารเสริมภูมิคุ้มกันได้พร้อมกันอีกด้วย

          รองศาสตราจารย์ ดร.พิชชานีย์ จริยพงศ์ จึงได้ศึกษาเพื่อทดสอบการใช้อนุภาคเสมือนไวรัสในการห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ต่อต้านการติดเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันไวรัสตัวแดงดวงขาวและตรวจสอบกลไกด้านชีววิทยาโมเลกุลของอนุภาคเสมือนไวรัสในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยใช้การวิเคราะห์ด้านทรานสคิปโตมและข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของเลือดกุ้ง

          ผลวิจัยพบว่า การใช้อาร์เอนเอ็นสายคู่ 2 ชนิดที่ถูกห่อหุ้มภายในอนุภาคเสมือนไวรัสมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวได้อีกกว่าการใช้อาร์เอนเอ็นสายคู่ 1 ชนิดแบบเปล่าเปลือยหรือที่ถูกห่อหุ้มด้วยอนุภาคเสมือนไวรัสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิเคราะห์ยีนต์ด้วยวิธีทรานสคิปโตมพบว่า อนุภาคเสมือนไวรัส Infectious hypodermal and hematopoietic necrosis (IHHN-VLP) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนต์ในระบบต่าง ๆ ของกุ้ง  326 ยีนต์ รวมทั้งยีนต์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ชื่อว่า Peroxiredoxin (Prx) โดยยีนต์จะมีการแสดงออกสูงสุด 13 เท่า ที่ 6 ชั่วโมงหลังจากฉีดอนุภาคเสมือนไวรัสและจะค่อย ๆ มีการแสดงออกลดลงแต่ยังสูงกว่ากุ้งในกลุ่มควบคุมที่ได้รับการฉีดด้วยน้ำเกลือ รวมทั้งกุ้งยังมีเอนไซม์ Peroxidase  ในน้ำเลือดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

หัวหน้าโครงการวิจัย: รองศาสตราจารย์ ดร.พิชชานีย์ จริยพงศ์  สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อีเมล  jpitchanee@gmail.com

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://drive.google.com/file/d/1XaZAOZ2clAF3qE91gEx_p0vS-gM3weK2/view?usp=shari