Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ถวายรายงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการทำกิมจิในโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์กิมจิ บรรจุภัณฑ์และการตลาด”ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

อัพเดท : 20/03/2567

666

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ (เป็นการส่วนพระองค์) ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 มีนาคม 2567  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากสนามบินกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง เพื่อทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ,ผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุควนเคร็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานของโครงการศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,ทอดพระเนตรการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์พื้นเมือง และทอดพระเนตรผลการดำเนินงานแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ “พอ...เพียงนี้ก็พอ”
     

โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนง เอี่ยวศิริ  หัวหน้าสาขาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นตัวแทนถวายรายงานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการทำกิมจิ จากผลผลิตในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์กิมจิ บรรจุภัณฑ์และการตลาด” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการปลูกพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายในพื้นที่ อำเภอปากพนัง และ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็น “ผลิตภัณฑ์กิมจิ” เพื่อที่จะนำพืชผักที่มีในชุมชนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กิมจิ  ที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงบรรจุภัณฑ์และช่องทางการตลาด เพื่อที่จะสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย 
และศูนย์บริการวิชาการ