
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยศูนย์บริการวิชาการร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง จัดกิจกรรมสร้างบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประจำปี 2567 เพื่อสร้างจิตสำนึกตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งอาหาร และสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีพื้นที่หลบภัย เป็นการสานต่อการสร้างองค์ความรู้จากภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในพิธีเปิดกิจกรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาได้รับเกียรติจากนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษามวล. รวมทั้งเยาวชนและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กิจกรรมสร้างบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นการทำงานที่บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป้าหมายการดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีใช้อย่างยั่งยืน โดยมีทั้งภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้ามาเป็นหน่วยงานประสานงานและร่วมทำงานกับ ภาครัฐ ทั้งกรมประมง ซึ่งมีบทบาทหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมทั้งความเอาใจใส่ของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริการบริหารส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการมีภาคเอกชน เช่น บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ธนาคามออมสิน เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชนในประเด็นของการเติมเต็มความพร้อมของชุมชนในมิติต่างๆตามความต้องการ นอกจากนี้การทำงานยังเชื่อมโยงการดูแลรักษาทรัพยากรประมงร่วมกับ องค์กรอิสระ (NGOs) เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และยังมีการทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายภาคีชาวประมงและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งจากภาพที่เห็นและข้อมูลจากการรายงานแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการจัดการประมงอย่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกจากเป็นการขับเคลื่อนของกลุ่มองค์กรพี่น้องชุมชนชายฝั่ง ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ข้อที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Life Below Water) ประชาชนในชุมชน นักศึกษาทั้งไทย และนักศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้เข้าร่วมจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างบ้านปลาซึ่งจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ลูกปูม้าวัยอ่อนลงทะเลอีกด้วย นับว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถทำให้มีผลผลิตปูม้าในธรรมชาติเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ทั้งนี้ ภายในงานนอกจากกิจกรรมสร้างบ้านปลา และการปล่อยพันธุ์ลูกปูม้าวัยอ่อนลงทะเลแล้วยังมีกิจกรรมเก็บขยะชายหาด กิจกรรมฐานเรียนรู้ 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้ที่ 1 การจัดการขยะ ฐานเรียนรู้ที่ 2 การปรุงอาหาร ฐานเรียนรู้ที่ 3 อู่ต่อเรือ และฐานเรียนรู้ที่ 4 โรงเรียนชาวประมงเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้แก่นักศึกษาและผู้เข้าร่วมเพื่อเป็นความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทะเลและชายฝั่งอีกด้วย
ข่าวโดย นางชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย นายเพชรภูมิ มณีวรรณ นักศึกษาช่วยงานข่าวฯ ส่วนสื่อสารองค์กร