
ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ในรูปแบบออนไลน์ มุ่งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล มีนิสิตนักศึกษาจาก 17 สถาบันเข้าร่วม เชฟรอนร่วมหนุนต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ภาคบรรยาย รูปแบบออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในการดำเนิน ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 21 เมษายน 2567 โดยในพิธีเปิดค่ายได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ และคุณพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกันกล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวรายงาน และ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลในครั้งนี้ มีนิสิตนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วม จาก 19 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ และผ่านการคัดเลือกพร้อมยืนยันสิทธิ์เพื่อเข้าร่วมโครงการ จำนวน 75 คน ประกอบด้วยนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี 71 คน ปริญญาโท 3 คน และปริญญาเอก 1 คน จาก 17 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ 10 ราย ม.ขอนแก่น 7 ราย ม.เชียงใหม่ 3 ราย ม.ทักษิณ 1 ราย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 ราย ม.นเรศวร 2 ราย ม.บูรพา วิทยาเขตจันทบุรี 3 ราย ม.มหาสารคาม 3 ราย ม. มหิดล 2 ราย ม.วลัยลักษณ์ 35 ราย วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล 1 ราย ม.สงขลานครินทร์ 3 ราย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3 รายและ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) 1 ราย ทั้งนี้กิจกรรมในการอบรมมีการบรรยายจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 25 หัวข้อ
“โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ดำเนินการจัดกิจกรรมเป็นเวลากว่า 1 เดือน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชากร ขอขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และขอขอบคุณไปยังคณาจารย์ วิทยากร และที่ปรึกษา จากภาคีเครือข่ายทุกคนเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการเป็นอย่างดียิ่งเสมอมา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าว