
วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ในฐานะเจ้าภาพร่วม และบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในนามผู้สนับสนุน พร้อมผู้จบการอบรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ภาคปฏิบัติ จำนวน 20 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility: CSR) ภายใต้โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 “The 31st Marine Ecology Course” ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต โดยกิจกรรมประกอบด้วยกิจกรรมเก็บขยะบริเวณพื้นที่ชายหาด และกิจกรรมการปล่อยเต่า ซึ่งผ่านการดูแลจากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิริธารกลับสู่ท้องทะเล ซึ่งจัดขึ้นบริเวณชายหาดหน้าศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต
สำหรับกิจกรรมการปล่อยเต่าคืนสู่ท้องทะเล ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิริธาร ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน แหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นหน่วยงานแรกรับและพักฟื้นสัตว์ป่วย เป็นที่ตั้งของบ่อดูแล ฟื้นฟู และรักษาสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเต่าทะเลและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (วาฬ โลมา และพะยูน) นอกจากนั้นมีการดำเนินการดูแลงานตรวจวินิจฉัยเลือด เนื้อเยื่อ การฉายรังสี และงานชันสูตรซากสัตว์ทะเลหายาก โดยเต่าที่ได้รับการปล่อยสู่ทะเล ภายใต้กิจกรรมเพื่อสังคมในวันนี้ จำนวน 3 ตัว ประกอบด้วยเต่าพันธุ์เต่าตนุ จำนวน 2 ตัว ซึ่งป่วยตามธรรมชาติ และเต่าหญ้า จำนวน 1 ตัว ป่วยจากการได้รับคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเล โดยได้รับการช่วยเหลือและดูแลจนแข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติด้วยตัวเองตามธรรมชาติ
กิจกรรมเพื่อสังคมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพิธีปิดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 13 พฤษภาคม 2567 ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการซึ่งประกอบด้วยการบรรยาย การทำหัวข้อสัมมนา รูปแบบออนไลน์ และกิจกรรมาภาคปฏิบัติ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจนิเวศวิทยาทางทะเลทั้งในรูปแบบของโครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงบทบาทของสิ่งมีชีวิตภายในระบบนิเวศทางทะเลแต่ละระบบ และระหว่างระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการวิจัย และกระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในด้านนิเวศวิทยาทางทะเล และเพื่อสร้างความตระหนักและปรัชญาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายตาม SDG ข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง, เป้าหมายข้อที่ 4 (Quality Education) การศึกษาที่เท่าเที่ยม และเป้าหมายข้อที่ 14 (Life below water) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกิจกรรม ประกอบด้วย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คุณเฉลิมรัฐ แสงมณี ผู้แทนศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ในฐานะเจ้าภาพร่วม และได้รับเกียรติจาก คุณปิยนัยย์ กลิ่นน้อย ผู้จัดการศูนย์ขนส่งทางอากาศนครศรีธรรมราช, คุณจิราภรณ์ โชติช่วง เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายกิจการสัมพันธ์ และคุณผลใหม่ จิรยิ่งพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการบิน บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในนามผู้สนับสนุน พร้อมผู้จบการอบรมโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ภาคปฏิบัติ จำนวน 20 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility: CSR) โดยกิจกรรมประกอบด้วยกิจกรรมเก็บขยะบริเวณพื้นที่ชายหาด และกิจกรรมการปล่อยเต่า ซึ่งผ่านการดูแลจากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิริธารกลับสู่ท้องทะเล ซึ่งจัดขึ้นบริเวณชายหาดหน้าศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต