
วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการกีฬา และโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และต่อยอด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาและติดตั้งกระดิ่งสัมฤทธิ์รอบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช 210 ใบ เพื่อแทนที่กระดิ่งที่ชำรุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล ครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจากนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาและติดตั้งกระดิ่งสัมฤทธิ์รอบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ที่บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นางปิติมา รักพานิชมณี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมชาย ลีหล้าน้อย นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ดร.นีรนาท แก้วประเสริฐ ระฆังทอง รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาการบัญชีและการเงิน ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่และพุทธศาสนิกชนร่วมในพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาและติดตั้งกระดิ่งสัมฤทธิ์รอบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีพระราชวิสุทธิกวี เจ้าคณะภาค 16 (ธ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยก่อนประกอบพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาแขวนกระดิ่งสัมฤทธิ์บนราวราชวัตร รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นำกล่าวคำถวายเครื่องพุทธบูชาแด่องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พร้อมกับผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างกระดิ่ง จำนวน 209 ราย เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
ผศ.ดร.ไพโรจน์ นวลนุ่ม อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และต่อยอด ในนามของพุทธศาสนิกชน กล่าวถึงการประกอบพิธีถวายเครื่องพุทธบูชาและติดตั้งกระดิ่งสัมฤทธิ์รอบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตามที่ปรากฏการติดตั้งกระดิ่งจำนวน 209 ใบ ในหมู่เครื่องสูงประกอบอิสริยศองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่รอบพนักลานประทักษิณ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช เมื่อ 139 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2428) โดยมีนายบุญศักดิ์ ชาวปากพนังฝั่งตะวันออกเป็นผู้จัดสร้าง แต่เมื่อกาลเวลาล่วงผ่าน เกิดการชำรุด ร่วงหล่นสูญหาย มาโดยลำดับ พระครูเหมเจติยาภิบาล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ในคราวการประชุมหารือร่วมกับโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และต่อยอด ได้ปรารภเกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบันของกระดิ่งซึ่งได้ถูกปลดลงจากราวราชวัติเพื่อการบูรณะและต่อมามีการกระจายสูญหาย จึงเห็นควรจะได้ดำเนินการจัดหากระดิ่งเพื่อแทนที่กระดิ่งที่ชำรุดสูญหายไป
โครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอด ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างกระดิ่งครั้งนี้โดยอาศัยความร่วมมือในลักษณะ "สาธารณกุศลศิลป์" ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์กระดิ่งที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีจิตศรัทธาเพื่อให้ได้ผลงานศิลป์ที่ถ่ายทอด และสะท้อนความผูกพันและความศรัทธาอย่างลึกซึ้งของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อการนับถือพระพุทธศาสนาผ่านการสร้างกุศลด้วยการสร้างเพื่ออุทิศถวายซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสู่สาธารณะ โดยมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างกระดิ่ง จำนวน 209 ราย ซึ่งรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะสมทบเป็นทุนการดำเนินงานและ ทุนการศึกษาของภิกษุสามเณรโรงเรียนพระบรมธาตุพิทักษ์วิทยา (พระปริย์ติธรรม วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร แผนกสามัญศึกษา) และเนื่องด้วยปี 2567 เป็นโอกาสมหามงคล จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับโครงการสำรวจและประเมินสถานภาพช่างศิลป์ถิ่นนคร เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดได้สร้างทำกระดิ่งเพิ่มอีก 1 ใบ เป็นใบที่ 210 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล ครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
ข้อมูลข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช