
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย เนื่องในช่วงวันทะเลโลก (World Oceans Day 2024) ในท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปมีความรู้และส่งเสริมความตระหนักในการทิ้งและการกำจัดขยะเพื่อลดปริมาณขยะชายฝั่ง และบริเวณชุมชน ไม่ให้มีผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักในการจัดการคัดแยกขยะเปียก (ขยะอินทรีย์ ย่อยสลายได้) ก่อนทิ้งลงถัง ณ พื้นที่ชายหาดบ่อนนท์ ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายสรายุทธ เลกากาญจน์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เป็นประธาน กล่าวรายงานโดย นายภูสิต ห่อเพชร อาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภายในพื้นที่ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จำนวนรวมมากกว่า 250 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สทช.5) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา สมาชิกชมรมท่าศาลาบ้านเรา สมาชิกกลุ่ม trash hero นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 7 โรงเรียน (โรงเรียนบ้านท่าสูง โรงเรียนบ้านในถุ้ง โรงเรียนบ้านสระบัว โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 8 โรงเรียนท่าศาลา โรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ และโรงเรียนปัญญาสารธรรมมูลนิธิ) ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 4 และ 10 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากกิจกรรมดังกล่าว มีการจัดการเก็บขยะชายหาด การคัดแยกขยะด้วยวิธีการ ICC ซึ่งสามารถจัดเก็บขยะได้ปริมาณทั้งสิ้น 317 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภท เศษโฟม ภาชนะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (จาน ช้อน/ส้อม) หลอด และถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังมีการเปิดบูทเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้เรียนรู้วิธีการการคัดแยกและบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เป็นการรองรับแนวทางในการลดปริมาณขยะ และเป็นประโยชน์ด้านการสร้างเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในอนาคต สามารถนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายตาม SDG ข้อที่ 12 (Ensure sustainable consumption and production patterns) สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ข้อที่ 14 (Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย