Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลตามแนวทางการพัฒนาที่ยังยืน SDG 14

อัพเดท : 27/06/2567

398

          เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ร่วมกับคณะทำงาน และเครือข่ายชาวประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลตามแนวทางการพัฒนาที่ยังยืน SDG 14 ในการติดตาม สนับสนุนป้ายองค์ความรู้และซ่อมแซมให้ธนาคารปูม้าอยู่ในสภาพที่สวยงามและใช้งานได้ นอกจากนั้นยังมีการลงพื้นที่สำรวจความหลากชนิดของสัตว์น้ำบริเวณบ้านปลา ศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่นำร่องในการดำเนินกิจกรรมฟื้นฟู ซึ่งเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และการกำหนดแนวเขตอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่การจัดการฟื้นฟูหอยตลับ และหอยชักตีน ภายใต้โครงการธนาคารปูม้าเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบองค์รวมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          ซึ่งโครงการธนาคารปูม้าได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 2561-2566 มีจำนวน 62 ธนาคาร จำนวนแม่ปูม้าไข่นอกกระดองเข้าสู่ธนาคารกว่า 50,000 ตัว และปล่อยปูม้าระยะ zoea คืนสู่ทะเล ชาวประมงได้รับองค์ความรู้เพื่อจัดทำธนาคารปูม้า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าในพื้นที่ จากผลการดำเนินงานชาวประมงในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำข้อตกลงร่วมกันประกาศพื้นที่ไม่ทำประมงชายฝั่งในเขต       500 เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และจากข้อมูลวิจัยได้สนับสนุนองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับการกำหนดนโยบายการทำประมง (กรมประมง) ในการจัดตั้งเขตพื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำ อนุรักษ์ปูม้าขนาดเล็ก รวมทั้งสัตว์น้ำอื่น ๆ เพื่อสร้างจิตสำนึก ความตระหนัก ในการอนุรักษ์ โดยห้ามจับปูม้าขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตร และปูม้าไข่นอกกระดอง

          โครงการธนาคารปูม้าเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งแบบองค์รวมเป็นโครงการต่อยอดการใช้ประโยชน์ธนาคารปูม้าเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาหรือยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อตอบโจทย์การบริโภคที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDG 2 (zero hunger) รวมทั้งฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง SDG 14 (life below water) และมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเล

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/28010