
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2567 รูปแบบออนไลน์ หลักสูตรที่ 3 หัวข้อ How to Use Compounded and Commercial Parenteral Nutrition for Hospitalized Patients (หลักการเลือกใช้ compounded และ commercial parenteral nutrition สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) วิทยากรโดย อาจารย์ ภญ.ณิชกานต์ อภิรมย์รักษ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วยเภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรร้านยา อาจารย์ นักกำหนดอาหาร นักเภสัชวิทยา และผู้สนใจทั่วไป จากทั่วประเทศจำนวน 21 คน ซึ่งผู้จบการอบรมจะได้รับวุฒิบัตร และได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ (Continuing Pharmaceutical Education: CPE) จำนวน 3 หน่วยกิต
การจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการเภสัชศาสตร์ ประจำปี 2567 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนและทบทวนความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัย ผู้เข้ารับการอบรมสามารถประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วย และเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องของสภาเภสัชกรรมในการพัฒนาเภสัชกร การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเภสัชกรรม และสุขภาพแก่ประชาชน โดยเป็นการส่งเสริมความใกล้ชิดของเภสัชกรและประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM MEETING วิทยากรโดยอาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบด้วยหัวข้อความรู้ จำนวน 3 หลักสูตร คือ
1.วันที่ 26 พฤษภาคม 2567 หลักสูตรที่ 1 หัวข้อ Principles of Geriatric Drug Therapy (การใช้ยาในผู้สูงอายุ) วิทยากรโดย อาจารย์ ภก.สิทธิพงค์ จงไกรจักร
2.วันที่ 9 มิถุนายน 2567 หลักสูตรที่ 2 หัวข้อ Pharmacogenomics and Personalized Medicines in Cancer Patients: Focusing on Patient Assessment and ADR Management (เภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคลในผู้ป่วยโรคมะเร็ง มุ่งเน้นการประเมินผู้ป่วย และการจัดการอาการไม่พึงประสงค์) วิทยากรโดย อาจารย์ ภก.ธีรภัทร์ มาแจ่ม
3.วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 หลักสูตรที่ 3 หัวข้อ How to Use Compounded and Commercial Parenteral Nutrition for Hospitalized Patients (หลักการเลือกใช้ compounded และ commercial parenteral nutrition สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) วิทยากรโดย อาจารย์ ภญ.ณิชกานต์ อภิรมย์รักษ์
จากผลการประเมินหลังเสร็จสิ้นการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการเภสัชศาสตร์ เป็นหัวข้อสุดท้ายของปี 2567 ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมการอบรมในส่วนของเนื้อหาความรู้ที่วิทยากรบรรยาย วิทยากรสามารถตอบคำถามได้ชัดเจนและตรงประเด็น โดยผู้เข้ารับการอบรมให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนความต้องการให้สำนักวิชาเภสัชศาสตร์จัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้จากหัวข้อต่างๆ เพิ่มเติม คือ
-เภสัชจลนศาสตร์คลินิก
-Nutrition ons ในร้านยา
-Parenteral Nutrition in Pediatrics
-การใช้ยาในผู้ป่วยโรคไต
-Enteral nutrition และให้ nutrition support ในผู้ป่วยเฉพาะโรคต่างๆ
ทั้งนี้ จากผลประเมินความพึงพอใจ ข้อเสนอแนะแนะนำ ตลอดจนหัวข้อความต้องการรับความรู้ในครั้งต่อไป ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 หลักสูตร สำนักวิชากเภสัชศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรม ทำให้ผู้ร่วมการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนาวิชาชีพได้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 4 (Quality Education) การศึกษาที่เท่าเที่ยม และเป้าหมายข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง