Location

0 7567 3000

ระดับชาติ

เยี่ยม! บัณฑิตสถาปัตย์ฯ มวล.คว้า 2 รางวัล เวทีประกวดวิทยานิพนธ์สถาปัตย์ฯ ระดับประเทศ ToyArch 2024

อัพเดท : 02/08/2567

1374

ว่าที่บัณฑิต สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค (ภาคใต้) และรางวัลชมเชย ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ในการประกวดวิทยานิพนธ์ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ดีเด่นแห่งปี ประจำปี 2567 THESIS OF THE YEAR AWARD 2024 – (ToyArch 2024) ดังนี้ 

รางวัลที่ 1 ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปี สาขาสถาปัตยกรรมหลัก จากผลงานโรงละครศิลปะการแสดง จังหวัดภูเก็ต Contemporary Performance Theater Phuket โดยนางสาว ปิยวรรณ ศิริสงคราม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.รวินทร์ ถิ่นนคร 

รางวัลชมเชย ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปี สาขาสถาปัตยกรรมหลัก จากผลงานศูนย์ อนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งฮาลา-บาลา Hala-Bala Tiger Conservation and Rehabilitation Center โดยนาย ภัทรนิษฐ อรัญ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ธนสัณฑ์ เทพรัตน์

โครงการประกวดวิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ( THESIS OF THE YEAR AWARD 2024 ) หรือที่เป็นที่รู้จักกันในแวดวงการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมของประเทศไทยว่า “TOY arch” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมส่งผลงานวิทยานิพนธ์ด้านการออกแบบเข้าประกวด เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานวิทยานิพนธ์ที่มีสัมฤทธิ์ผลสูงสุด และเป็นเวทีสำหรับนักศึกษาแต่ละสถาบันในการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน โดยเปิดรับสมัครผลงานของนักศึกษาปริญญาตรีที่ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์หรือผลงานออกแบบชิ้นสุดท้ายก่อนจบของปีการศึกษา 2566 ทั้งหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่  ประเภทสถาปัตยกรรมหลัก ประเภทสถาปัตยกรรมผังเมือง ประเภทภูมิสถาปัตยกรรม ประเภทสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ โดยมีผลงานจากนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่งเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก

ซึ่งการทำวิทยานิพนธ์ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นเสมือนการประมวลองค์ความรู้ที่น้อง ๆ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม ได้เรียนรู้มาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 เพื่อสร้างเป็นโครงการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งตัวนักศึกษาเองเป็นผู้สร้างโจทย์ในชั้นปีที่ 5 ภายใต้การดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ มีการใช้กระบวนการวิทยานิพนธ์ด้านการออกแบบ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามเพื่อสร้าง/ค้นหาแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ หรือแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ในสภาวะการณ์ที่แท้จริงในปัจจุบัน มีการค้นคว้าข้อมูลสนับสนุนการออกแบบทั้งภาคทฤษฎีด้านสถาปัตยกรรมและกรณีศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้องค์ประกอบโครงการและแนวทางการออกแบบ และลงมือปฏิบัติงานออกแบบจริงซึ่งต้องคำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ เช่น กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายผังเมือง หรือข้อกำหนดและมาตราฐานเฉพาะอาคาร อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงงานระบบประกอบอาคาร การเลือกใช้วัสดุ กระบวนการก่อสร้างที่ต้องเลือกใช้ รวมทั้งความเหมาะสมของงานออกแบบกับบริบทพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ซึ่งการทำงานในโครงการวิทยานิพนธ์จะใช้เวลาพัฒนางานถึง 2 ภาคการศึกษา มีกระบวนการพัฒนาโครงการและสอบรายงานความก้าวหน้า เพื่อรับคำแนะนำจากคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ในสาขาวิชา รวมทั้งการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์จากคณะกรรมการภายนอก ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาชีพเพื่อให้มั่นใจคุณภาพของวิทยานิพนธ์ที่จะใช้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


 

ขอบคุณภาพประกอบข่าว เพจ Facebook TOY ARCH Thailand